รู้จักฉันรู้จักเธอ (ชีวิตมีสองมุม)


เขียนภาพเรื่องราวอันเป็น “ความสุขและความทุกข์” ที่เกิดขึ้นกับตัวนักศึกษา โดยเน้นให้โฟกัสไปยังเรื่องราวที่นักศึกษาสามารถ “ข้ามพ้น” มาได้ เพื่อชวนให้ขบคิดถึงปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนสามารถเติบโตมาจากจุดๆ นั้น

เมื่อสองถึงสามปีที่แล้ว ผมเคยได้ใช้กิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ” เป็นเวทีนำร่องของการสร้าง “ทีม”

ทุกวันนี้  ผมจึงบอกกับทีมงานอย่างสม่ำเสมอว่าเรามี “ทีมที่ดี”

ทีมที่ดีที่ว่านี้เป็นผลพวงของค่านิยมองค์กรที่ผมและทีมงานได้ร่วมชูธงและปักธงมาร่วมสองปีว่า “สอนงานสร้างทีม”  ซึ่งหมายถึงการใช้กระบวนการของการจัดการความรู้มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน และยึดมั่นในแนวทางของการสอนงานแบบ “จริงจังและจริงใจ” 

 

 

ล่าสุด (วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔) ผมและทีมงานอีก ๓ คนเดินทางไปจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “อบรมภาวะผู้นำเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพสโมสรนักศึกษา” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งที่เป็นนักศึกษาและอาจารย์ประมาณ ๔๐ คน

ทั้งผมและทีมงานมีเวลาเตรียมการไม่มากนัก เพราะได้รับการติดต่อที่กระชั้นชิด แต่เราก็โชคดีมากที่เจ้าของโครงการได้ให้เสรีภาพในการ “ออกแบบกิจกรรม”  ได้อย่างเต็มที่ เพราะทางมหาวิทยาลัย (ภาควิชามนุษยศาสตร์ฯ) ก็ไม่เคยจัดกิจกรรมอบรมในทำนองนี้มาก่อน จึงนับได้ว่ากิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ภาควิชาฯ ได้จัดให้กับบรรดา “ผู้นำนักศึกษา”

 

 

ผมเสนอแนวคิดอย่างกว้างๆ ไปยังผู้ประสานงานในทำนองว่า “เน้นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นสำคัญ กิจกรรมจะไม่เน้นบรรยายสายตรง หรือบรรยายแบบสื่อสารทางเดียว แต่จะใช้กระบวนยุทธแบบเปิดประเด็นชวนคิดชวนเจรจา ผสมผสานกับกิจกรรมปฏิบัติการ เพื่อให้นักศึกษาได้ทั้งความรู้ แรงบันดาลใจและกระบวนการในการจัดอบรมไปพร้อมๆ กัน และที่สำคัญคือการกระตุ้นให้เกิดการทบทวนภาวะภายในของผู้นำเป็นที่ตั้ง”

เป็นที่น่ายินดีว่ากรอบแนวคิดดังกล่าวได้รับไฟเขียวอย่างชื่นมื่น ซึ่งผมก็เริ่มจัดวางแกนนำในการที่จะไปจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้อย่างง่ายๆ ด้วยการชวนให้ลูกทีมหารือกันเองว่า “ใครจะไปบ้าง” ...


 

ผมให้เสรีภาพในการสร้างทีมตรงนี้ค่อนข้างสูง เพราะรู้ดีว่าไม่ว่าจะใครไปบ้าง ทีมของผมก็มีดีพอที่จะสร้างสรรค์บรรยากาศของการเรียนรู้ได้อย่างไม่ยากเย็น อีกทั้งผมเองก็ซ่อนแนวคิดไว้เหมือนกันว่า “ทีมงานของผมมีวิธีการที่จะเลือกคนกันอย่างไรบ้าง ?”

และนั่นก็ยิ่งทำให้ผมเบิกบานใจเป็นที่สุด เพราะแกนนำที่ผมมอบหมายภารกิจนั้นสามารถ “เลือกคนได้สัมพันธ์กับงาน”  เรียกได้ว่า “ลงตัว ไม่เทอะทะ สามารถทำงานได้หลายอย่าง และที่สำคัญคือ แต่ละคนเติมเต็มกันและกันได้อย่างไม่ต้องกังขา ยิ่งไปกว่านั้นก็คือทั้งสามคนนั้นเป็นประเภทมองตาทะลุขั้วหัวใจของกันและกันเลยทีเดียว”

         สมปอง มูลมณี : อดีตนักกิจกรรมจากกลุ่มไหลที่ปัจจุบันกลายมาเป็นบุคลากรในสังกัดเดียวกับผม รับหน้าที่พิธีกร กลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมประเมินความคาดหวังและสรุปผลการเรียนรู้ พร้อมทั้งบรรยายให้ความรู้ในเรื่องแนวคิดและทักษะการเขียนโครงการและการดำเนินกิจกรรมด้วยกระบวนการ PDCA

          สุริยะ สอนสุระ : อดีตนักกิจกรรมสายดนตรีพื้นบ้านสังกัดวงแคน ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ร่วมกัน  รวมถึงการรับผิดชอบเรื่องกระบวนการ Woke Shop เรื่อง บทบาทผู้นำกับการพัฒนากิจกรรมนักศึกษาและการพัฒนาสถานศึกษา ตลอดจนการบรรยายเรื่องการวิเคราะห์ตัวตนของนักศึกษาผ่านกิจกรรมแก้ว ๔ ใบและสัตว์ ๔ ทิศ

          อติรุจ อัคมูล : อดีตผู้นำนักกิจกรรมที่ผันตัวมาเป็นบุคลากรขององค์กรรับผิดชอบระบบทรานสคริปกิจกรรมและงานออกแบบสร้างสรรค์สื่อ ซึ่งถือว่าเป็นกระบี่มือหนึ่งขององค์กร ได้รับมอบหมายให้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว รวมถึงภารกิจเบ็ดเตล็ดเพื่อเสริมแต่งกระบวนการให้ลื่นไหลและแน่นหนักมากขึ้น

          ส่วนตัวกระผมนั้น  ทำทุกอย่างในภาพรวมไปพร้อมๆ กับการบรรยายกึ่งปฏิบัติการในหัวข้อสำคัญๆ เช่น รู้จักฉันรู้จักเธอ : ทบทวนก้าวย่างบนเส้นทางกิจกรรม ,ภาวะผู้นำกับการบริหารจัดการสโมสรนักศึกษา

 

 

กิจกรรมดังกล่าวเปิดตัวอย่างเรียบง่าย ทุกอย่างเป็นไปตามแนวคิด “บันเทิงเริงปัญญา”  คุณสมปองฯ  เรียกเสียงฮา พานักศึกษาขยับแข้งขยับขาและขยับความคิดได้อย่างลงตัว พลอยให้แต่ละคนทะลายกำแพงภายในตัวเองลงได้อย่างรวดเร็ว เสร็จจากนั้นก็ผนึกกำลังกับคุณอติรุจฯ ในการจัดกิจกรรม “BAR ต้นไม้แห่งความคาดหวัง”  ก่อนที่คุณสุริยะฯ  จะรับหน้าที่ในการสรุปความคาดหวัง  ซึ่งปรากฏเป็นประเด็นหลักๆ เรียงลำดับตามความต้องการจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ 

  • อยากได้รับความรู้ในเรื่อง “ทักษะ หรือภาวะความเป็นผู้นำ”
  • อยากได้ความสนุกสนาน
  • อยากได้ความรู้ในเรื่องการจัดกิจกรรมสันทนาการ 
  • อยากได้ความรู้ในเรื่องการเขียนโครงการ
  • อยากได้ความสามัคคีในทีม

 

 

แน่นอนครับ  ผมและทีมงานไม่ละเลยในประเด็นที่นักศึกษาสะท้อนออกมาเลยสักนิด และไม่ได้คิดว่าทำไปตามกระบวนการเปิดตัวเท่านั้น หากแต่ยึดและตระหนัก หรือแม้แต่เตือนตัวเองตลอดเวลาว่าสิ่งเหล่านี้ต้องพยายามสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในเวทีครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด  พร้อมๆ กับการสะกิดให้นักศึกษาได้รับรู้ว่าการหยั่งถามเช่นนี้ ก็ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของ "การประกันคุณภาพการศึกษา" ด้วยเหมือนกัน หรือแม้แต่เป็นกระบวนการหนึ่งที่แต่ละคนต้องเรียนรู้ด้วยตนเองว่าทำอย่างไรตัวนักศึกษาเองจะบรรลุความคาดหวังของตัวเอง มิใช่ปล่อยให้เป็นภาระของ “ผมและทีมงาน” แต่เพียงฝ่ายเดียว

ถัดจากนั้นก็เป็นคิวที่ผมต้องออกโรงตามหัวข้อ “รู้จักฉันรู้จักเธอ : ทบทวนก้าวย่างบนเส้นทางชีวิต” 

ครั้งนี้ผมให้นักศึกษาได้เขียนภาพเรื่องราวอันเป็น “ความสุขและความทุกข์” ที่เกิดขึ้นกับตัวนักศึกษา  โดยเน้นให้โฟกัสไปยังเรื่องราวที่นักศึกษาสามารถ “ข้ามพ้น” มาได้ เพื่อชวนให้ขบคิดถึงปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนสามารถเติบโตมาจากจุดๆ นั้น  รวมถึงการชวนให้เชื่อมั่นอย่างแน่นหนักว่า ในโลกความเป็นจริงนั้น “ชีวิตย่อมมีสองมุม”  เสมอ มีสุข มีทุกข์ มีหัวเราะ มีน้ำตา มีชนะ มีแพ้ ...และทั้งปวงนั้นก็ล้วนเป็นเชื้อเพลิงให้ชีวิตเติบโตมาสู่วันนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้น ความสุขของชีวิต จึงคงไม่ได้หมายความในมุมเดียวว่าอยู่กับเรื่องราวอันเป็นความสุขเสมอไป หากแต่ในบางมุมก็คงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเศร้าบ้าง  เป็นการอยู่แบบเข้าใจ ไม่ใช่อยู่แบบจมจ่อม อยู่แบบเป็นทาสความเศร้าอย่างไม่รู้จบ แต่อยู่และเรียนรู้ที่จะเติบโตจากความเศร้าไปพร้อมๆ กัน

 

 

ในห้วงขณะที่นักศึกษากำลังมุ่งมั่นวาดภาพอยู่นั้น คุณสุริยะฯ ก็เปิดเสียงเพลงคลอไปเบาๆ ขณะที่ทีมงานอีกสองท่านก็พยายามเลียบเลาะเยี่ยมชม หรือแม้แต่สังเกตพฤติกรรมของนักศึกษาไปพร้อมๆ กันอย่างนิ่งเนียน  จนในที่สุดผมก็ให้แต่ละคนจับคู่กัน เพื่อทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวในภาพนั้นสู่กันฟัง ซึ่งมีใครบางคนถึงกลับ “หลั่งน้ำตาออกมาโดยอัตโนมัติ และใครอีกคน หรือแม้แต่อย่างน้อย สองถึงสามคนก็ปลอบประโลมกันอย่างอบอุ่น” 

 

 

เหนือสิ่งอื่นใด ผมมีความเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า กิจกรรมที่ผมจัดขึ้นนั้น  ไม่ใช่แค่กระบวนการของการทบทวนตัวเอง ไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนรอบกาย  หากแต่เป็นการช่วยให้ใครแต่ละคนได้ปลดเปลื้องสิ่งที่แบกรับมาอย่างยาวนานไปในตัว  

ด้วยเหตุนี้จึงดูเหมือนการนำพาไปสู่การสร้างเวทีให้ใครสักคนได้มีพื้นที่ในการชำระล้างเรื่องบางเรื่องที่เป็นตะกอนและผลึกอยู่ในตัวเอง เสมือนการได้ช่วยให้ใครบางคนได้สารภาพเรื่องบางเรื่องทั้งกับตัวเองและคนข้างกาย  เป็นการฝึกให้เรียนรู้กระบวนการของการ “ให้อภัยกับตัวเอง” ไปพร้อมๆ กับการเยียวยากันและกัน

แน่นอนครับ กระบวนการที่ว่านี้  จึงคล้ายกับการปลดล็อคตัวเองออกมาจากวังวนอันเจ็บปวด เพื่อยืนหยัดอย่างทระนงต่อวันนี้และวันพรุ่งนี้ของชีวิต 

 

 

กิจกรรมที่ว่านี้  จะเห็นได้ชัดว่า  ผมจงใจให้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเวทีอื่นๆ  ซึ่งที่ผ่านมาผมมักชวนให้ใครๆ ได้ทบทวนและสื่อสารเรื่องราวในมุมอันสวยงามล้วนๆ โดยไม่มีมุมชีวิตอันขุ่นมัวมาเจือปน  เพราะไม่อยากให้มีการหยิบยกเอาเรื่องเศร้าๆ มาโลดเต้นในเวทีของการเรียนรู้  ด้วยเกรงว่าจะเป็นเค้าลางไม่ดีของกิจกรรมที่จัดขึ้น

หากแต่ครั้งนี้ขอสารภาพโดยตรงเลยว่าเจตนาให้เป็นเช่นนี้จริงๆ เพราะต้องการ "ถอดบทเรียนชีวิต" ของนักศึกษา  เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า “ชีวิตมีสองมุม เพราะบางที, สิ่งดีๆ ในวันนี้ก็ล้วนเกิดจากความโศกเศร้าของอดีต” ด้วยเหตุนี้จึงควรต้องทบทวนอย่างกล้าหาญกระมังว่า “เราข้ามพ้นมาได้อย่างไร...”  (เพราะนั่นแหละคือคำตอบอันเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดำรงชีวิตในวันนี้)

ผมโชคดีมากที่มีเวลาพอสมควรกับการจัดกิจกรรมในหัวข้อ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  กระบวนการต่างๆ จะลื่นไหลไปแบบไม่บีบเร่ง  ช่วยให้แต่ละคนมีเวลาพอที่จะหันกลับเข้าไปฟังเสียงจากข้างในตัวเองอย่างสงบงาม และมีเวลาจัดกระทำกับข้อมูลอย่างมีสติ เพื่อสื่อสารถึงเรื่องราวและสารัตถะไปยังเพื่อนๆ ...

ฟังดูเหมือนเล่นกับความรู้สึกของผู้คนมากไปหน่อย  แต่ผมก็พยายามใช้กระบวนการอย่างเป็นศาสตร์และศิลป์  เพื่อให้นักศึกษาเห็นคุณค่าในการทบทวน หรือฟังเสียงหัวใจของตัวเอง และสะกิดให้แต่ละคนเรียนรู้ที่จะดูแลกันและกัน ทั้งในนามของ "เพื่อนร่วมทีม" และ "เพื่อนร่วมชะตากรรม" ในโลกใบนี้

 

 

อย่างไรก็ดี  ในห้วงสุดท้ายของกิจกรรม  ผมไม่ได้สรุปประเด็นแนวคิดกิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอในมุมของการเรียนรู้ความเป็นทีมผ่านกิจกรรมนี้อย่างฉะฉานอย่างที่ควรจะเป็น เพราะต้องการให้แต่ละคนได้สรุปด้วยตัวเองเสียมากกว่า  ด้วยหวังว่าวิธีการเช่นนั้น จะทำให้นักศึกษาเรียนรู้ที่จะคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือแม้แต่คิดวิพากษ์ด้วยตัวเอง 

แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังอดไม่ได้ที่จะสะท้อนแนวคิดของตัวเองอย่างสุภาพและเบาๆ ผ่านเลยไปสู่นักศึกษาในทำนองว่าให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการ “ฟังและพูดกับเพื่อน,รักและอาทรต่อเพื่อน,ทบทวนวันเวลาในอดีตอย่างมีสติ,มองโลกและชีวิตเชิงบวกที่มีทั้งขาวและดำ”

หรือแม้แต่การเทียบเปรยในทำนองว่า  “กิจกรรมทำนองนี้จะเป็นทุนอันดีให้นักศึกษาได้เปิดใจเรียนรู้เพื่อนร่วมองค์กร  หากวันหนึ่งวันใดทำงานร่วมกันไปแล้วรู้สึกขุ่นข้องกับพฤติกรรมของเพื่อน เรื่องราววันนี้ ก็น่าจะช่วยยึดโยงไปสู่การเยียวยากันและกันได้บ้างกระมัง...” 

นี่คือกระบวนการเล็กๆ ที่ผมพยายามสื่อสารออกไปในเวทีของวันนั้น
และผมก็สุขใจเป็นอย่างมาก เมื่อรู้ว่านักศึกษายังไม่เคยได้เข้าร่วมกิจกรรมในทำนองนี้มาก่อนเลย...

 

 

หมายเลขบันทึก: 438733เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อาจารย์เรียก..กระบวนการเล็กๆ แต่ concept ของอาจารย์ยิ่งใหญ่จริงๆ อืม... ถอดบทเรียนชีวิต ทำให้รู้จักตนเอง ได้เห็นตัวเองทั้งมุมสุขและมุมเศร้า โฟกัสให้เห็นว่าตัวเองข้ามพ้นมาได้อย่างไร จนมีชีวิตอย่างปัจจุบันนี้...มองให้เห็นว่าชีวิตย่อมมีทั้งสุขและเศร้า อย่าจมจ่อมอยู่กับความเศร้า...ใช้มันเป็นพลังในการก้าวต่อไป ...โชคดีจังที่ได้เข้ามาอ่านบทความดีๆ จากคนดีๆ ขอนคุณอาจารย์และ G2K ค่ะ

สวัสดีครับ พี่แก้ว

ขอบพระคุณที่แวะมาเสริมแรงใจนะครับ
ก่อนนั้น ผมเริ่มต้นกิจกรรมนี้ในลักษณะเน้นการ "เล่าเรื่อง" หรือ "สนทนา" กันเสียมากกว่า ถัดจากนั้นแปลงเป็น "จดหมายปริศนา" ให้แต่ละคนได้เขียนขึ้นและให้เพื่อนได้ทายว่าเป็นจดหมายของใคร  เสร็จจากนั้นก็เปิดเวทีให้คุยกันในเรื่องจดหมายที่ว่านั้น  เมื่อเวลาผ่านพ้นไปสักระยะ  เห็นว่าบุคลากรในสังกัดมีทักษะในการเล่าเรื่องดีขึ้น  ก็พัฒนารูปแบบเป็นการใช้ "ศิลปะการเขียนและการวาดรูป" เข้ามาช่วยขับเคลื่อน เป็นแนวคิดของการเขียนและวาดเพื่อบำบัดไปในตัว

กิจกรรมดังกล่าว  ไม่เพียงปลดล็อคเรื่องบางเรื่องของใครบางคน หรือกระตุ้นให้ใครบางคนได้หยุดทบทวนจังหวะชีวิตตัวเองเท่านั้น   แต่ผมยังเชื่อว่าเป็นการสอนความเป็นทีมแลความเป็นเพื่อนมนุษย์ไปในตัวได้เหมือนกัน  มันคือกลไกของการแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต มันคือกลไกของการเยียวยาชีวิตกันและกันไปในที

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีค่ะ

ขอนำคำพูดนี้ไปใช้นะคะ

“ฟังและพูดกับเพื่อน,รักและอาทรต่อเพื่อน,ทบทวนวันเวลาในอดีตอย่างมีสติ,มองโลกและชีวิตเชิงบวกที่มีทั้งขาวและดำ”

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อ.ลำดวน

นี่ก็เพิ่งกลับจากการเป็นวิทยากรบนเวทีเล็กๆ สดๆ ร้อนๆ ครับ  น้องๆ นิสิตเชิญไปเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการประชุมเชียร์ให้สต๊าฟฟัง  ...

กระบวนการทั้งแวงที่จัดขึ้นในเวทีการเรียนรู้นั้น ผมจะรู้สึกเองตลอดว่าผมเองก็เรียนรู้ความเป็น "ตัวเอง" ผ่านกิจกรรมเหล่านั้นไปด้วยเหมือนกัน  ระยะหลัง  ผมชอบทำกิจกรรมในทำนองที่มันตั้งคำถามกับตัวเองเสียมากกว่า  คล้ายกับการชักชวนให้ตัวเองหันกลับมาพูดคุยกับตัวเองมากกว่าแต่ก่อน

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ.วัสฯ Wasawat Deemarn

ผมเดินทางไม่รู้จบครับ ใช้ชีวิตบนรถและท้องถนน นี่ก็กำลังเดินทางไปเป็นวิทยากรและให้กำลังใจน้องๆ แถวปักธงชัย

เป็นยังไงบ้างครับ...ชีวิตดูปลอดโล่งแล้วหรือยัง

ระลึกถึงไม่จืดจางนะครับ

สวัสดีครับคุณเอก..จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ขอบคุณที่แวะมาเสริมพลัง...ผมเองก็ส่งความปรารถนาดีกลับไปยังคุณเอกด้วยเช่นกัน นะครับ

*ขอร่วมชื่นชมกับกระบวนการสร้างพลังจากภายในตนเพื่อความเข้มแข็งสู่การจับมือกันเดินในการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขค่ะ..

*ขอบคุณมากค่ะที่ไปเยี่ยมและให้ความสนใจกับโครงการจิตอาสาของชาว SCBชวนกันทำความดี..และคุณแผ่นดินอยากสนับสนุนคนหนุ่มสาวให้ได้ทำงานเพื่อสังคมด้วย ซึ่งตรงกับโครงการ "แบ่งปัน 1วันใน 1ปี" ของเราที่ได้เคยเล่าไว้แล้ว โปรดคลิ๊กที่นี่ค่ะ :

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/437173

น้องๆเยาวชนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมและสมัครป็นสมาชิกของโครงการได้ที่ :

www.1day1year.com

 

แวะมาให้กำลังใจอาจารย์นะคะ ^_^

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

"1 วันของตัวเอง ออกไปทำเพื่อคนอื่น" ...เป็นถ้อยคำที่งดงาม และยิ่งใหญ่มากครับ ฟังแล้วเกิดพลังและแรงบันดาลใจอย่างมาก มันไม่ใช่แค่การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง หากแต่หมายถึงการพัฒนาสังคมไปอย่างน่าเคารพ  สิ่งเหล่านี้เป็นการพัฒนาทัศนคติของผู้คนได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณอีกครั้งสำหรับพื้นที่ที่ให้เด็กๆ และเยาวชนได้เติบโตอย่างสร้างสรรค์นะครับ

สวัสดีครับ คุณแหม่มnoomam lek

ผมเงียบไปเพราะอยู่ระหว่างการสัญจรไปในที่ต่างๆ เหนื่อยจนไม่มีแรงนั่งเขียนบันทึกเลยทีเดียว..

ขอบคุณที่แวะมาเสริมแรงให้ชีวิตผม นะครับ...

สวัสดีครับ อ.ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

ภาพเหล่านี้ น้องๆ ทีมงานเป็นผู้บันทึกให้ครับ
ไม่มีใครเรียนสายตรงในเรื่องถ่ายรูป  ทั้งผมและน้องๆ เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงด้วยกันทั้งนั้น

ขอบคุณครับ

คนที่ให้อภัยตัวเองได้ ผมว่าน่านับถือจริงๆนะครับ ... แต่ถ้าเรื่องมันร้ายแรงมากๆ คนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเราเองจะทำใจยอมรับได้จริงๆหรือครับ พอดีว่าเคยรู้จักคนที่เขาเจอเหตุการณ์ร้ายๆมาน่ะครับ ... แม้เขาจะเปิดใจและกล้าที่จะเล่าแต่ผลที่ส่งถึงคนรอบข้างกลับกลายเป็นความด้านลบ ทำให้เสียเพื่อน เสียคนรอบข้างไปเยอะทีเดียว... จนผมเองกลับมาย้อนคิดว่า บางเรื่องนั้นไม่ให้รู้เลยอาจจะดีกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท