พระมะเหลเถไถ : บทละครที่ไม่มีใครกล้านำมาเล่น


บทละครที่ไม่มีใครกล้านำมาเล่น เพราะกระบวนกลอนค่อนข้างจะพิสดารครับ นั่นคือเรื่อง “พระมะเหลเถไถ”

พระมะเหลเถไถ :

บทละครที่ไม่มีใครกล้านำมาเล่น

           วันนี้ผมขอแนะนำวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ซึ่งแต่งเป็นกลอนบทละคร  แต่เป็นบทละครที่ไม่มีใครกล้านำมาเล่น  เพราะกระบวนกลอนค่อนข้างจะพิสดารครับ  นั่นคือเรื่อง  พระมะเหลเถไถ         

 พระมะเหลเถไถ เป็นกลอนบทละครของ คุณสุวรรณ มีประวัติสั้นๆ ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าไว้ว่า         

คุณสุวรรณ เป็นธิดาของพระยาอุไทยธรรม (กลาง) ราชนิกุลบางช้าง  มีนิสัยรักการแต่งกลอนตั้งแต่เด็ก ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 3  อยู่ตำหนักพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  คุณสุวรรณมาเสียจริตในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เป็นการเสียจริตเนื่องไปด้วยฟุ้งซ่านไปในเรื่องกลอนมากกว่า และผลงานกลอนที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ กลอนบทละครเรื่องพระมะเหลเถไถ  กับกลอนบทละครเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง  

 

        เรื่องพระมะเหลเถไถ มีชื่อเสียงก็เพราะความพิสดารในกระบวนกลอน คือแต่งเป็นภาษาบ้างไม่เป็นภาษาบ้าง  แต่ดูจะเป็นระเบียบดี เพราะส่วนใหญ่จะวางถ้อยคำที่ไม่เป็นภาษาไว้ใน 3 คำท้ายวรรคทุกวรรค แต่เมื่ออ่านทั้งตอน ทั้งเรื่องแล้วก็รู้เรื่องรู้ความดี  ความขันก็อยู่ตรงถ้อยคำที่ไม่เป็นภาษานี่เองครับ

  

        นอกจากนี้ กระบวนการแต่งกลอนบทละครก็ดำเนินไปตามธรรมเนียมการแต่งตามแบบฉบับของบทละคร นั่นคือ มีการระบุชื่อเพลงที่ใช้ในการขับร้อง    มีการขึ้นกลอนด้วยคำ   เมื่อนั้น  บัดนั้น มาจะกล่าวบทไป  มีบทสระสรงแต่งองค์ทรงเครื่องของตัวละคร  มีบทพรรณนาธรรมชาติ มีบทเกี้ยวพาราสี  บทชมนาง เป็นต้น  เราลองมาติดตามเรื่องราวดูครับ

  

        ขึ้นต้นเรื่อง ใช้เพลงช้าปี่ เพลงช้า กล่าวถึงตัวเอกคือพระมะเหลเถไถ ว่า

            เมื่อนั้น                พระมะเหลเถไถมะไหลถา

สถิตยังแท่นทองกะโปลา        ศุขาปาลากะเปเล

วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก        มะเหลไถไพรพรึกมะรึกเข

แล้วจะไปเที่ยวชมมะลมเต      มะโลโตโปเปมะลูตู

ตริแล้วพระมะเหลจึงเป๋ปะ       มะเลไตไคลคละมะหรูจู๋

จรจรัลตันตัดพลัดพลู            ไปสู่ปราสาทท้าวโปลา ฯ๖ คำฯ เพลงช้า  

           อ่านรู้เรื่องไหมครับว่า พระมะเหลเถไถจะเสด็จไปประพาส(เที่ยว)ชมไพร(ป่า) จึงต้องไปกราบลาท้าวโปลา(พระราชบิดา)กับนางตาลากะปาลัน(พระราชมารดา) จากนั้นก็เตรียมการเสด็จ ก่อนเสด็จต้องสรงน้ำชำระร่างกายและแต่งตัวตามธรรมเนียมก่อนครับ

        ๏ สระสรงทรงสุคนธ์ปนตลึก    ลูบไล้ไป่ปึกกะโง๋โก๋

สนับเพลาเชิงไชกะไรโจ               ภูษาสีสะโรกะโปลัน

เจียรบาดปักทองกะลองเต็ด           ปั้นเหน่งเพชรสายสอดจรอดฉัน

ฉลององค์อย่างน้อยกะปอยลัน       มะลวงชวงปวงปันคั่นทองกร

......

  

 

          อ่านแล้วอย่าพยายามงงสงสัยนะครับให้อ่านรวมๆ ก็พอจะมองเห็นภาพ การอาบน้ำลูบเครื่องหอม นุงสนับเพลา (กางเกง)  ใส่ภูษาสี(ผ้า) ส่วนจะสีอะไรไม่ทราบครับ สีสะโร หน้าตาเป็นอย่างไรก็จนด้วยเกล้า แต่งนุ่งผ้าเยียระบับปักทองสวยงาม สวมปั้นเหน่ง(เข็มขัด)ทำด้วยเพชร ก็เรียกว่าแต่งฉลององค์อย่างโอรสกษัตริย์ครับ  

          แต่งองค์เสร็จก็ออกเสด็จพร้อมพลโยธาทวยหาญกองใหญ่ จนถึงไพรกว้างก็ต้องชมธรรมชาติกันหน่อยครับ 

       ๏ พระชมเขาเนาเนินกะหรกกก    รุกขชาติดาษดกมะโหลโต๋

มะลาตันสาระพันกะลันโป                กะลาปียี่โถมะโยตัน

มะโยติงปริงปรางลางสาบ                ลางสาดหาดหาบมะหลันปั๋น

มะลันปีสีเสียดประเหยียดกัน           ประยงค์แก้วแถวพันมะลันตา

.....

  

       ชมอะไรกันบ้างครับ  ที่พอจะรู้เรื่องก็มี  ยี่โถ ปริง ปราง ลางสาด สีเสียด และประยงค์   ก็พอจะไหวนะครับ นอกจากชมไม้ ก็ชมนก เช่น

 พระชมปักษากะลาชอน               กะลาฉินบินว่อนกะล่อนโฉ

กะลิงเฉียบเหยียบแต้วเค้าแมวโม    เค้าเมงหมิ่นผินโผพะโวตา  

 

ที่คุ้นชื่อ ก็มี กะลิง แต้ว เค้าแมว  ก็เรียกว่าชมไพรเพลินไปจนกระทั่งพลบค่ำก็ตั้งพลับพลาประทับค้างในไพรนั่นเอง  ต่อไปกล่าวถึงพระอินทร์ตามแบบเรื่องไทยๆ ที่พระอินทร์ต้องมายุ่งเกี่ยวแทบทุกเรื่อง เรื่องนี้ก็จะมา   อุ้มสม  คือ อุ้มนางเอกไปหาพระเอกเพื่อจับคู่กันเหมือนกับเรื่อง พระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดี          

   ๏ มาจะกล่าวบทไป               ถึงท้าวหัสไนยมะไหลถา

สถิตที่วิมานมะลานชา              กายารุ่มร้อนมะลอนจี

จึงเล็งทิพเนตรมะเลดป่า           ในชมพูแผ่นหล้ามะลาถี

เห็นพระมะเหลเถทะเวที           มาแรมร้างค้างที่มะลีไช

เพราะไม่มีคู่จรูสม                   เสวยรมย์ราชามะลาไส

ผู้เดียวเปลี่ยวองค์มะลงได       จำเราจะให้มะไลทา

....

  

       นางเอกเรื่องนี้ชื่อพิสดารพอๆ กับพระเอกครับ คือ นางตะแลงแกง มีวาสนาเป็นคู่ครอง จึงอุ้มนางตะแลงแกงตอนหลับมาให้พระมะเหลเถไถ ตอนนี้มีบทชมนางกันหน่อยครับว่า นางตะแลงแกง เธอจะงดงามเพียงใด

    ๏ พระเพ่งพินิจมะลิดตัก             ประไพภักตร์เพียงจันทร์มะลันถี

อรชรอ้อนแอ้นมะแรนจี                 เลิศล้ำนารีมะลีทา

ฤาหนึ่งนางในมะไลจึก                พระไพรพฤกษ์พระไทรมะไลต๋า           

แกล้งจำแลงแปลงกายมะไลทา    มาหลอกเล่นเห็นมามะลาตม

...

          ตอนนี้นางเอกตื่นขึ้นมาเห็น  เจ้าชายรูปงามก็เริ่มบทเกี้ยวพาราสีตามธรรมเนียม อ้างเอาเทพอุ้มสมชะรอยจะเป็นเนื้อคู่กันอะไรทำนองนั้น ในที่สุดก็ลงเอยโดย บทอัศจรรย์ (บทสังวาสหรือบทเสพสมภิรมย์รัก) ซึ่งเป็นลักษณเฉพาะในวรรณคดีไทยครับที่พรรณนาบทเซ็นเซอร์ได้ไพเราะประณีตที่สุด  ผมสอนเรื่องนี้แก่นักศึกษาต่างประเทศเล่นเอางงเป็นแถวๆ ว่าทำไมกวีพรรณนาไปอย่างนั้น กว่าจะอธิบายให้เข้าใจก็ยากอยู่เหมือนกัน 

  

        บทอัศจรรย์ในเรื่องนี้กล่าวสั้นๆ ครับ

 ว่าพลางทางถดมะหลดติด            อย่าอายเอียงเบี่ยงบิดมะลิดเป๋

นางป้องปัดหัตถามะลาเท             มะโลโตโปเปมะเลตุง

สองภิรมย์ชมเชยมะเยปม                  สำราญรมย์รื่นเริงมะเลิงตุ๋ง

สัพยอกหยอกเย้ามะเลาชุง                สมสวาดิ์มาดมุ่งมะลุงแชง

  

        เรื่องราวว่าต่อไปครับ พระมะเหลเถไถได้ชวนนางตะแลงแกงกลับบ้านเมือง ระหว่างทางก็พบยักษ์ชื่อ ท้าวไทอสุรามะลาก๋อย ถูกลงโทษเพราะลอบชมนางฟ้า  จนตัวขาดให้มาไล่จับสัตว์ในป่ากิน เมื่อพบทั้งสองกลางป่าก็จะจับกินเป็นอาหาร พระมะเหลเถไถก็ต่อสู้ป้องกันตัว  เรื่องราว ต้นฉบับจบลงเท่านี้  แต่เข้าใจว่าเรื่องคงจะมีต่อไป แต่เมื่อไม่มีค้นฉบับก็เป็นเล่าแต่เพียงนี้  ว่างๆ ผมจะลองแต่ต่อให้จบ ตอนนี้ต้องมาทำจริตให้พิสดารเหมือนคุณสุวรรณก่อน

  

        ครับ เรื่องพระมะเหลเถไถ อ่านไปก็คลายเครียดได้บ้าง บางทีการพูดหรือเขียนไม่เป็นภาษาอย่างท่านบ้างก็น่าจะดี เพราะคนสมัยนี้พูดอะไร เขียนอะไรก็แทบจะไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว โดยเฉพาะนักการเมือง

         อ่านเรื่องนี้แล้วคิดมากไม่ได้ครับ แต่ที่แน่ๆ ถ้าใครจะนำเรื่องนี้มาเล่นละครเห็นทีต้องคิดกันหนักหน่อยครับ               

หมายเลขบันทึก: 148286เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2007 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีครับ

เรื่องนี้น่าสนุกครับ ถ้าจะเล่น คนร้องคนสนุก แต่คนรำท่าจะลำบาก

ทำเป็นหนังการ์ตูนอาจจะน่าสนใจกว่า ;)

สวัสดีครับอ.กรเพชร

สมัยเป็นนักเรียนมัธยมปลาย อาจารย์ให้เลือกละครมาแสดงกลุ่มละ ๑ เรื่อง ผมแสดงเป็นพระอภัยมณี เรียกเสียงกรี๊ดได้น่าดู แต่พอเรื่องที่สองออกมาเสียงกรี๊ดถล่มทลายเพราะเพื่อนผมแสดงเรื่องพระมเหลเถไถนี่แหละ นึกถึงภาพการเป็นนักเรียนแล้วสนุกไม่หาย

ขอบคุณที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเล่า ทำให้มีความสุขครับ

สวัสดีครับP

       เห็นด้วยครับ  เรื่องนี้เคยมีคนเอาเนื้อเรื่องตอนหนึ่งมาทำเป้นเพลงขับร้องด้วยครับ คือตอนเริ่มต้นเรื่องครับ   ผมเองก็ชอบเพลงนี้ด้วยครับ

  เมื่อนั้น                พระมะเหลเถไถมะไหลถา

สถิตยังแท่นทองกะโปลา        ศุขาปาลากะเปเล

วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก        มะเหลไถไพรพรึกมะรึกเข

แล้วจะไปเที่ยวชมมะลมเต      มะโลโตโปเปมะลูตู

ตริแล้วพระมะเหลจึงเป๋ปะ       มะเลไตไคลคละมะหรูจู๋

จรจรัลตันตัดพลัดพลู            ไปสู่ปราสาทท้าวโปลา ฯ๖ คำฯ เพลงช้า  

สวัสดีครับP

        สำหรับผมนั้นเล่นเรื่องระเด่นลันไดครับ ผมเป็นท้าวประดู่ สนุกดีครับ  วรรณกรรมประเภทขบขันหรือให้ความบันเทิงของไทยเราก็มีมากครับ ผมจะค่อยๆทยอยเอามาเล่าให้ฟังตามสไตล์ของผม  คอยติดตามอ่านนะครับ 

สวัสดีครับP

       ขอบคุณครับที่อ่าน

๏ สระสรงทรงสุคนธ์ปนตลึก ลูบไล้ไป่ปึกกะโง๋โก๋

สนับเพลาเชิงไชกะไรโจ ภูษาสีสะโรกะโปลัน

เจียรบาดปักทองกะลองเต็ด ปั้นเหน่งเพชรสายสอดจรอดฉัน

ฉลององค์อย่างน้อยกะปอยลัน มะลวงชวงปวงปันคั่นทองกร

อ่านแล้วอย่าพยายามงงสงสัยนะครับให้อ่านรวมๆ ก็พอจะมองเห็นภาพ การอาบน้ำลูบเครื่องหอม นุงสนับเพลา (กางเกง) ใส่ภูษาสี(ผ้า) ส่วนจะสีอะไรไม่ทราบครับ สีสะโร หน้าตาเป็นอย่างไรก็จนด้วยเกล้า แต่งนุ่งผ้าเยียระบับปักทองสวยงาม สวมปั้นเหน่ง(เข็มขัด)ทำด้วยเพชร ก็เรียกว่าแต่งฉลององค์อย่างโอรสกษัตริย์ครับ

***************************************************************************************

ขออนุญาตเพิ่มเติมการค้นคว้านะครับ

"ภูษาสีสะโร"

ถ้าผมค้นคว้าไม่ผิด "สะโร"

เป็นไปได้ไหมว่า "สะโร" คงจะหมายถึงวันเสาร์ครับ

สีประจำวันเสาร์คือ สีม่วง แต่ผมเดาว่าตัวละครไม่ได้ใส่สีม่วง

ผมพยายามขบคิดว่า ทำไม ครูสุวรรณ จึงใช้คำนี้

คงเป็นเพราะท่านจับเอาคำที่สื่อถึงคำอื่นมาใส่ในกลอนกระมัง

ภูษา = ผ้านุ่ง

สี = สี

สะโร = เป็นไปได้ไหมว่ามาจากคำว่า "สุระ" ที่แปลว่า "เสาร์" หรือ สุระวาร ซึ่งแปลว่า "วันเสาร์"

เนื่องจากคำศัพท์พวกนี้เป็นคำศัพท์เกี่ยวกับโหราศาสตร์ จะนิยมในหมู่ราชสำนักมากกว่า ชาวบ้านทั่วไป

ผมจึงคาดว่า ครูสุวรรณ ท่านคงจะนำคำที่สื่อถึงคำอื่นมาใส่ในกลอนให้แปลกแหวกแนวไปจนเป็นที่ชวนหัว

แต่ผมไม่ทราบว่า ครูสุวรรณ ท่านจะสื่อว่า "ตัวละครจนุ่งผ้าสีม่วง"

หรือ ครูสุวรรณ ท่านจะสื่อว่า "ตัวละครนุ่งผ้าม่วง" กันแน่

กอปรกับในสังคมสมัยช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สภาพแวดล้อมที่ ครูสุวรรณ อาศัยอยู่นั้น

ผู้ชายที่เป็นเจ้านาย ในราชสำนัก ในวงสังคมชั้นสูง นิยมนุ่งโจงกระเบนผ้าม่วง

ส่วนผู้ชายสามัญชน นิยมนุ่งโจงกระเบนผ้าลาย ผ้าพื้น ธรรมดาครับ

แล้ว "ผ้าม่วง" คือ ผ้าอะไรหล่ะ? เป็นแบบไหน? ลักษณะมันเป็นอย่างไร?

ผ้าม่วง คือ ผ้าไหมสีพื้น ที่ไม่มีลวดลาย ใช้ไหมทอเต็มผืน

ผ้าม่วงมีหลายสีครับ โดยในราชสำนักนิยมใส่สีน้ำเงินมากกว่าสีอื่น

แต่ถ้า ผ้าม่วง ที่ทอลายที่ขอบริมผ้า เป็นรูปต่างๆ จะเรียกกันว่า "ผ้าม่วงเชิง"

คำว่าผ้าม่วง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "หม่วง" มณฑลเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

"ผ้าม่วงที่สั่งจากประเทศจีนเข้ามาใช้นั้น เป็นชื่อเมืองที่ผลิต มิได้หมายถึงสีของผ้า

แต่อย่างใดเพราะนอกจากสีน้ำเงินแล้วยังมีสีเหลือง สีแดงอีกด้วย" (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 15)

ที่มั่นใจว่าเป็นผ้าม่วงนั้นเพราะกลอนต่อมา ครูสุวรรณ แต่งว่า

"เจียรบาดปักทองกะลองเต็ด" ซึ่ง ผ้าเจียรบาดน่าจะเป็นผ้าที่ใช้คาดเอวสำหรับปิดของสงวนที่มันจะโดดเด่น

ออกมานอกกายครับ มัดแล้วชายผ้ามันก็จะลงมาปิดเป็นชายกรุยๆ ดูพลางตาครับ

สำหรับถ้าเป็นโขน ละคร สมัยนี้ เจียรบาดมันคือ ผ้าห้อยหน้า ก็เอาไว้ปิดของสงวนเช่นกันหล่ะครับ

ซึ่งอุปกรณ์เครื่องแต่งกายที่ตัวละครใช้แต่งนั้นเป็นของหรูหรามาก ชนชั้นธรรมดาไม่สามารถมีได้แน่

ดั่งคำกลอนของสุนทรภู่ (ยุคใกล้เคียงกันกับครูสุวรรณ) ในเรื่องพระอภัยมณี

ตอนที่พระอภัยมณีมอบของให้สินสมุทรเตรียมจะหนี

"เจียรบาดคาดองค์ก็ทรงเปลื้อง ให้เป็นเครื่องนุ่งห่มโอรสา"

หรือ บทเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนที่ ขุนแผนขึ้นไปแต่งตัวที่หอพระนารายณ์

"เสื้อนอกดอกช่อฉลุทอง ตระพองทับเจียรบาดคาดมั่น"

ในราชสำนักนั้น มีความเชื่อของสีที่เป็นมงคลตามวันด้วย

ในวันเสาร์ สีมงคล คือ นุ่งผ้าสีม่วงเม็ดมะปราง หรือ นุ่งผ้าสีม่วงลายพื้น หรือ นุ่งผ้าสีดำ

ซึ่งผ้าดำในสมัย ครูสุวรรณ เจ้านายชั้นสูงไม่นุ่งแน่ เพราะกำลังจะไปเดินชมนกชมไม้

กำลังจะมีความสุข รื่นเริงบรรเทิงใจ จะได้ออกเที่ยวเตร่หาความสุขตามประสาหนุ่มวัยแตกพาน

หากวิเคราะห์แบบไม่คิดลึกมาก ผมคิดว่า ครูสุวรรณ พรรณาถึงตัวละครที่นุ่ง

ผ้าไหม พื้นสีม่วงที่เป็นมัน มีเงาเป็นสีน้ำเงินแก่ (น้ำเงินดำ) ครับ

***************************************************************************************

ในคำกลอน ครูสุวรรณ ท่านแต่งว่า

"สนับเพลาเชิงไชกะไรโจ ภูษาสีสะโรกะโปลัน เจียรบาดปักทองกะลองเต็ด ปั้นเหน่งเพชรสายสอดจรอดฉัน

ฉลององค์อย่างน้อยกะปอยลัน มะลวงชวงปวงปันคั่นทองกร มงกุฎแก้วแวววาบมาราบรับ กรรเจียกจันปันกับมะหลอนฉอน

ธำมรงค์จินดากะราชอน ตลุดฉุดอรชรมะลอนชัน ดูเลือบเชือบเหลือบแลกะโปงโลง งามดังปังโปงกำงั๋นกั๋น

กะงวยกวยฉวยพระแสงมะแรงตัน มอระตอก็รันขึ้นอาชา"

ส่วนที่พี่กรเพชร แปลคำว่า "เจียรบาด" ว่า "ผ้าเยียรบับ" นั้น ผมไม่แน่ใจว่าใช่ อันเดียวกับ "เจียรบาด" นี้รึเปล่า

เพราะ "ผ้าเยียรบับ" เจ้านายชั้นสูง จะทอไหมขัดกับดิ้นเงินดิ้นทอง แล้วใช้ตัดฉลองพระองค์ (เสื้อ)

แต่ "ผ้าเจียรบาด" นั้น เป็นผ้าสำหรับห้อยหน้าสำหรับเจ้านายชั้นสูง ปัจจุบันเป็นเครื่องโขน ละคร

ส่วนในวรรณคดีนั้น ปรากฏคำว่า "คาดเจียรบาด" ซึ่งใช้เป็นผ้าคาดเอวตัวพระ ใช้คาดที่เอวและมัดที่พุง มีชายกรุยกรายปิดของสงวน

และ "สไบเจียรบาด" ซึ่งใช้เป็นผ้าสไบตัวนางด้วย ใช้ห่มพาดเฉวียงบ่าปกติจะต้องอัดกลีบเพื่อปกปิดอำพรางตาของสงวน เช่นกัน

มันควรจะมีประโยชน์แบบนี้จริงๆ ครับ อย่างเราคนธรรมดาก็ให้นึกถึง ผ้าขมาลายหมากรุก(ผ้าขาวม้า) ก็ได้

ดังนั้น เจียรบาด ควรจะเป็นผ้าที่ไว้สำหรับปกปิดของสงวนที่โดดเด่นออกมานอกระนาบของร่างกายครับ

กล่าวคือ ปกปิดและพรางตาปลายถันของผู้หญิง และ ปกปิดและพรางตาองคชาติของผู้ชาย

ซึ่งผมวิเคราะห์จากข้อมูลต่างๆ แล้วควรจะเป็น "ผ้าเจียรบาด" มากกว่าที่จะเป็น "ผ้าเยียรบับ"

******************************************************************

จากบทกลอนในตอนนี้ ที่บรรยายลักษณะขั้นตอนในการแต่งตัวของตัวละคร

"สนับเพลาเชิงไชกะไรโจ ภูษาสีสะโรกะโปลัน เจียรบาดปักทองกะลองเต็ด ปั้นเหน่งเพชรสายสอดจรอดฉัน

ฉลององค์อย่างน้อยกะปอยลัน มะลวงชวงปวงปันคั่นทองกร มงกุฎแก้วแวววาบมาราบรับ กรรเจียกจันปันกับมะหลอนฉอน

ธำมรงค์จินดากะราชอน ตลุดฉุดอรชรมะลอนชัน ดูเลือบเชือบเหลือบแลกะโปงโลง งามดังปังโปงกำงั๋นกั๋น

กะงวยกวยฉวยพระแสงมะแรงตัน มอระตอก็รันขึ้นอาชา"

ซึ่งควรจะมีความหมายประมาณที่ผมถอดมานี้ คือ สมัยก่อนเป็นเครื่องทรงกษัตริย์ สมัยนี้ เป็นเครื่องสำหรับตัวละครแต่งครับ

+ สนับเพลาเชิงไช = สนับเพลาเชิงชาย = กางเกงที่ใส่ข้างในก่อนนุ่งผ้าโจงกระเบนซึ่งทอยกท้องขาวด้วยดิ้นเงิน

เรียก ผ้าเชิงชาย ครูสุวรรณ ท่านใช้คำว่า เชิงไช

+ ภูษาสีสะโร = ผ้าม่วงสีพื้นม่วงสำหรับนุ่งโจงกระเบนสำหรับเจ้านายชนชั้นสูง (ดังได้อธิบายมาข้างต้นแล้ว)

+ เจียรบาดปักทอง = ผ้าห้อยหน้าปักด้วยดิ้นทอง, ในที่นี้ผมเข้าใจว่าเป็นผ้าคาดเอวมากกว่าแล้วห้อยชายกรุยมาข้างหน้า

+ ปั้นเหน่งเพชรสายสอด = รัด(สายสอด)เข็มขัดที่มีหัวประดับด้วยเพชร

(เข็มขัดสมัยโบราณจะต้องสอดตัวเกี่ยวไปกลัดไว้ข้างในก่อนครับ แล้วจึงกลัดหัวที่หน้าพุง)

+ ฉลององค์อย่างน้อย = ฉลององค์ = แต่งตัว (รวมเสื้อด้วย) / อย่างน้อย = อย่างเจ้าชายที่มีอายุน้อย หรือ โอรสกษัตริย์

ผมก็ไม่รู้ว่าใส่เสื้อทีหลังคาดเข็มขัดยังไง 555+ (แต่ผมต้องแปลว่า รวมเสื้อด้วย เพราะถ้าถอดเสื้อมันจะดูขัดกับจริตคนอื่น

แต่ส่วนตัวผมคิดว่า ตัวละคร ตัวนี้ต้องไม่ใส่เสื้ออย่างแน่นอน ตามแบบอย่างละครชาตรีโบราณ ที่ผู้แสดงเป็นผู้ชายล้วน

ไม่ใส่เสื้อ ทรงเครื่องกษัตริย์ เป็นสมัยนิยมโชว์หุ่นของชายไทยมาช้านานครับ และจากการที่สยามรับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย

นั่นเอง แนวอุดมคติในละครโบราณ กษัตริย์จะต้องเป็นพระเอก เดิมชาวอินเดียชั้นสูง(เหนือ)เรียกว่า "กษัตริย" แต่อินเดีย(ใต้)

ออกเสียงว่า "ฉัตริย์" เมื่อเรารับวัฒนธรรมอินเดียใต้เกี่ยวกับเรื่องละคร เราออกเสียงไม่ถนัดจึงออกเสียงว่า "ชาตรี" หมายถึง

ตัวละครที่พระเอกเป็นกษัตริย์ ใช้เครื่องแต่งกายอย่างเจ้านาย โดยรวมคือ แต่งเครื่องทรงอย่างเจ้านายน้อย (แสดงให้เห็นว่า

ยังไมได้เป็น มงกุฏราชกุมาร ยังเป็นชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าอยู่)

+ ปวงปันคั่นทองกร = แบ่งกำไลมือทองคำแล้วก็ใส่ (แสดงว่าใส่สองมือตามแบบเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์)

+ มงกุฏแก้วแวววาบ = ทรง(ใส่)มงกุฏมีแสงแวบวาว วูบวาบ เหมือนแก้วมณีที่โดนแสง

+ กรรเจียกจัน = กรรเจียก คำเดียวก็แปลว่า เครื่องประดับหู ได้แล้วครับ ส่วนมากเป็นรูปลายกนกเปลว

ที่ ครูสุวรรณ ท่านใส่คำว่า จัน แทนที่จะเป็น จอน คงอยากจะเล่นสัมผัสกับคำว่า ปัน กระมังครับ แต่ความหมายคงเดิม

+ ธำมรงค์จินดา = แหวนประดับอัญมณีที่ทรงคุณค่าน้ำงาม ประมาณเพชรสีขาว เพราะจินดา หมายถึง ชื่อพระสรัสวตี

ซึ่งสัญลักษณ์สีและอาภรณ์ในเทวคติของชาวสยาม ของพระสรัสวตีคือ สีขาวใสแบบแก้ว

+ ตลุดฉุดอรชร = อาการที่ชมตัวเองหลังจากแต่งตัวเสร็จ ประมาณ ชมตนเองว่าหล่อ เท่ห์

(ส่องกระจกอยู่ กระจกทำด้วยทองเหลืองขัดเงา เรียกพระฉาย) ตลุด = อุตลุต = สับสน / ฉุด = รั้งขึ้น หรือ ยกตัวขึ้น

อรชร = หุ่นดีเอวบางอย่างในอุดมคติ

+ ดูเลือบเชือบเหลือบแล = แปลรวมว่า ชำเลืองมอง / ดู = ดู / เลือบ ไม่มีความหมาย แต่ให้สัมผัสกับคำว่า เชือบ

เหลือบ = ชำเลืองดู / แล = มองดู

+ งามดังปังโปง = รูปงาม หล่อเหลา เท่ห์ เปรียบเทียบว่า รูปงามจะเดินทางไปไหนก็มีแต่คนเหลียวมอง มองดูตะลึงในความ

หล่อเหลารูปงาม เหมือน ลูกกระดิ่ง ลูกกระพรวน เวลามันดังเสียงกรุ๊งกริ๊ง คนก็ต้องหันมามอง / งาม = รูปงาม หล่อเหลา

ดัง = ดั่ง = เหมือน คล้าย / ปัง = เสียงดัง / โปง = กระดิ่ง กระพรวน

+ กะงวยกวยฉวยพระแสง = หยิบดาบอย่างรวดเร็ว / กะ = ก็ / งวยไม่มีความหมายให้สัมผัสกับคำว่ากวยและให้ไปสัมผัส

กับคำว่าฉวยอีกครั้ง / ฉวย = หยิบ คว้าอย่างรวดเร็ว / พระแสง = อาวุธ โดยทั่วไปถ้าไม่มีคำอื่นต่อท้ายก็เข้าใจว่าเป็นดาบ

+ ก็รันขึ้นอาชา = รีบวิ่งขึ้นม้าควบขี่ไป / ก็ = ก็ / รัน = ตี แล้วเค้าตีอะไรหล่ะ?

ในความเข้าใจของผม ครูสุวรรณ ท่านใช้คำอ่านทับศัพท์ภาษาอังกฤษ RUN ที่แปลว่า วิ่ง

เพราะท่านเป็นผู้ที่มีความรู้เป็นนางข้าหลวงชาววังมีการศึกษา ในสมัยท่านมีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแล้ว เพราะ

รัชกาลที่ 4 ท่านเจริญสัมพันธไมตรีกับ ประเทศอังกฤษ คงจำ เซอร์ยอห์น เบาว์ริง เจ้าเมืองฮ่องกง ผู้เชิญพระราชสาสน์

จากพระนางวิคตอเรีย และ แหม่มแอนนา (แอนนา แฮเรียต เอ็มมา เอ็ดเวิร์ด หรือ แอนนา ลีโอโนเวนส์)ได้นะครับ

ทรงโปรดจ้างแหม่มแอนนา มาจากสิงคโปร์มาสอนภาษาอังกฤษให้เจ้านายชั้นสูง ในขณะนั้น แหม่มแอนนาเปิดโรงเรียนเล็กๆ

สอนภาษาอังกฤษให้ลูกทหารในสิงคโปร์

อธิบายภาษาชาวบ้านก็คือ บรรยายวิธีการแต่งตัวนั่นเอง สมัยนี้ก็เช่น บทฉุยฉายต่างๆ ครับ

1. นุ่งกางเกงข้างในยกเชิงชายด้วยดิ้นเงิน

2. นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน พื้นสีม่วง

3. ใส่ผ้าห้อยหน้า

4. คาดเข็มขัดหัวประดับเพชร

5. ใส่กำไลทองที่ข้อมือทั้งสองข้าง

6. ใส่มงกุฏของราชกุมาร

7. ใส่เครื่องประดับใบหูลายกนกเปลว

8. สวมแหวนประจำตัว

9. ดูความเรียบร้อยเครื่องแต่งตัว

10.หยิบอาวุธ (จะไปเดินป่าก็ต้องเอาอาวุธไปด้วยป่าน่ากลัว)

11.ขึ้นม้าแล้วควบออกไป

ปล.ผมไม่ใช่ผู้รู้นะครับ เพียงแต่อยากจะแชร์ความเข้าใจ และการค้นคว้าให้ทุกๆ ท่านได้พิจารณาครับ

ผิดถูกอย่างไร ผิดพลาดอย่างไร กราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

แต่ผมอยากให้นำเอาระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) มาเล่นมากที่สุดเลยครับ อยากเห็นพระเอกกับนางเอกมาก เพราะจินตนาการตามบทชมนางแล้วสยองครับ

สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า

พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา ทั้งสองแก้มกัลยาอย่างลูกยอ

คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ

หูกลวงดวงพักตร์หักงอ ลำคอโตตันสั้นกลม

สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม

เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม มันน่าเชยน่าชมนางเทวี

อยากเห็นจริง ๆ พยายามค้นหาใน google หลายวันแล้วว่าพอจะมีรูปใครเหมือนนางในกลอนนี้บ้าง...

อยากให้แปลให้จบเรื่องค่ะ สนใจอยากอ่านให้จบค่ะ แต่แปลไม่ค่อยถนัด ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท