ในโลกออนไลน์ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะ "เฟซบุ๊ก" มีผู้เล่นแอพพลิเคชั่น "DOG-A-LIKE" (ด็อก-อะ-ไลค์) เทียบหน้าตาตัวเองกับสุนัขกันเกลื่อนหน้าเพจ ซึ่งหากจับต้นชนปลายหาต้นตอแห่งการแพร่ระบาดคงยาก เพราะเหมือนเป็นกระแสเห็นเพื่อนเล่นก็เฮโลเล่นตาม บ้างคิดว่าน่ารักน่าสนุกดี
แต่หารู้ไม่ว่ากลับกลายเป็นประเด็น "ดราม่าออนไลน์" ไปเสียแล้ว!!!
เมื่อกลุ่มคนไทยจำนวนมากใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวแบบผิดวัตถุประสงค์หลัก จนสร้างความปั่นป่วนไม่น้อยให้กับเจ้าของแอพพลิเคชั่น ไทยรัฐออนไลน์เก็บประเด็นต่างๆ มาวิเคราะห์พร้อมกับหาทางออกด้วยว่าเป็นเพราะเหตุใดคนไทยจึงไวต่อกระแสวูบวาบแบบนี้เสมอ...?

กล่าวสำหรับ แอพพลิเคชั่น "DOG-A-LIKE" (ด็อก-อะ-ไลค์) ถูกออกแบบมาภายใต้โครงการของ The PEDIGREE® Adoption Drive ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2007 วัตถุประสงค์หลักเพื่อติดต่อระหว่างคนรักสุนัข กับสุนัขไร้บ้านที่ทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในออสเตรเลีย และสำหรับทุกๆ "Like" ของแฟนเพจ ยังจะมีการบริจาคอาหารสุนัขอีกด้วย
ส่วนชนวนดราม่านั้น เริ่มเมื่อชุมชนเฟซบุ๊กไทยจำนวนหลายแอคเคาท์ คลิกเข้าไปเล่นเพื่อต้องการเทียบหน้าตาตัวเองกับสุนัข ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะชอบดูภาพมากกว่าอ่าน ดังนั้นหลายท่านจึงอาจมองข้ามขั้นตอน หรือละการอ่านวัตถุประสงค์ของเจ้าของแอพพลิเคชั่น โดยเผลอคลิก "Adopt" (อดอปต์) โดยมิได้ตั้งใจ เพราะคงมองข้ามไปด้วยใจนึกว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องทำให้เสร็จสิ้น
"Adopt" (อดอปต์) คำนี้ หมายความว่า "รับอุปการะ" ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เมื่อคนเล่นเฟซบุ๊กจากไทยเราเผลอคลิก "รับอุปการะ" จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะแอพพลิเคชั่นนี้ มีนโยบายให้รับเลี้ยงเพียงแค่ออสเตรเลียเท่านั้น หากข้ามน้ำข้ามประเทศคงเป็นเรื่องลำบากไม่น้อย กระทั่งเจ้าของแอพพลิเคชั่นจึงต้องออกมาโพสต์ข้อความ อธิบายวัตถุประสงค์หลักให้ชาวไทยรับทราบโดยทั่วกันแปลเป็นภาษาไทยว่า
"เราทุกคนดีใจที่เห็นคนไทยสนใจในเว็บเพจนี้เป็นอย่างมาก และเพื่อเป็นการยืนยันว่า เพจนี้เปนเพจเพื่อแก้ปัญหาน้องหมาไร้คนดูแลในประเทศออสเตรเลีย.. แอพฯ dog-a-like จึงเกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อความสนุก แต่ให้สำหรับชาวออสเตรเลียเท่านั้นที่จะกดรับเลี้ยงสุนัขเหล่านี้ได้ แต่เราก็ดีใจที่มีคนมาเล่นกันเป็นจำนวนมาก และทางที่ดีโปรดแชร์เพจไปยังคนออสฯที่คุณรู้จัก ขอบคุณที่สนับสนุน!!"
...
อย่างไรก็ดี เจ้าของแอพพลิเคชั่น "DOG-A-LIKE" (ด็อก-อะ-ไลค์) ระบุว่าคนไทยยังสามารถเล่นแอพพลิเคชั่นเทียบหน้าน้องหมาเพื่อความบันเทิงได้ เพียงแค่อย่าคลิก "รับอุปการะ" เท่านั้นเอง เพราะจะทำให้สุนัขตัวที่จับคู่กับเราถูก "ล็อค" และไม่สามารถถูกรับอุปการะต่อได้อีก

ขณะเดียวกันหลังกระแส DOG-A-LIKE เลยเถิดไปไกล ล่าสุด มีคนเปิดเฟสบุ๊ก “มั่นใจคนไทยเกิน 10,000 ไม่รู้ว่า apps มีไว้ช่วยหมา” (www.facebook.com/wedontknowdog) โดยมีหลายข้อความตอบตัวคนไทยที่เห่อเลียนแบบโดยผิดวัตถุประสงค์ หลังจากที่มีคำชี้แจงจากเพจของ pedigri adoption Australia ถึงการกระทำของคนไทย หลังจากข่าวการทำเรื่องที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ออกไป คนไทยอีกหลายคนจึงเข้าไปในเพจดังกล่าว แสดงเจตนารู้สึกผิดด้วยการโพสต์ข้อความภาษาไทยลงไป
-เราต้องขอโทษที่ทำให้เพจการกุศลของประเทศเค้าวุ่นวาย เราไม่รู้
-เราต้องขอโทษที่เกิดมาเราโง่ภาษาอังกฤษ เราไม่รู้
-เราต้องขอโทษที่เราอยากจะเล่นเฉยๆ เราไม่รู้
-เราต้องขอโทษที่เราไปฟลัด ไปเกรียนบนเพจประเทศเค้า เราไม่รู้
-เราต้องขอโทษที่ไปยึดเพจเค้า เราไม่รู้ ฯลฯ
นอกจากนี้หลายถ้อยคำก็ด่าทอกันมากมาย สร้างความสับสันให้กับคนที่้ต้องการสื่อสารด้วยการใช้ แอพฯ นี้อย่างแท้จริง
กระทั่ง ช่วงเช้ามืดของวันที่ 4 ต.ค. เพจแอพพลิเคชั่น DOG-A-LIKE ได้ตัดสินใจทำการ "บล็อค" หรือ"ปิดกั้น" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ชาติอื่นๆ สามารถใช้งานได้ตามปกติ เนื่องจากทางผู้ดูแลเพจได้โพสต์ข้อความร้องขอให้คนไทยหยุดสื่อสารในเพจด้วยภาษาไทย และโต้ตอบด้วยภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลแทน แต่กลุ่มผู้เล่นเฟซบุ๊กไทยจำนวนหนึ่งกลับละเลย ทั้งยังเพิ่มความฮึกเหิมด้วยการนำคลิปวิดีโอต่างๆ ไปแปะ ไม่เว้นแม้แต่เพลง "คันหู" ขอน้องจ๊ะ วงเทอร์โบ เป็นต้น

อาจารย์วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาชื่อดัง กล่าวผ่านไทยรัฐออนไลน์ถึงพฤติกรรมเลียนแบบของคนไทยที่มักจะเห่อทำตามๆ กันมา เพื่อความสนุกสนาน ชนิดที่ไม่ตระหนักรู้ความหมายว่าเขาทำเพื่ออะไรว่า ไม่แปลกใจและก็เป็นไปตามผลการวิจัยเมื่อ 30 ปีก่อนที่คนต่างประเทศสะท้อนความเป็นคนไทยแท้ๆ ได้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
“เมื่อ 30 ปีก่อน ชาวต่างประเทศได้ทำการวิจัยคนไทยว่า 1.รับมาทุกๆ อย่าง 2.ปรับเข้ากับตัวเองและ 3.นำมันมาเป็นตัวเอง ดังนั้นพฤติกรรมการเลียนแบบเปลือกนอก เลียนแบบที่ผลลัพธ์ DOG-A-LIKE โดยไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์หลักเขาเอามาทำอะไรกัน มันสะท้อนได้ชัดเจนว่าทุกวันนึ้คนไทยยังสนใจแต่เปลือก แต่สีสัน มักง่าย ไม่สนใจประวัติความเป็นมาหรือเนื้อหา เหมือนอย่างเพลงคันหูคนเห็นสื่อนำเสนอก็แห่กันไปคลิ๊ก 10 ล้านเพื่อดูเพราะว่ามันอินเทรนด์ หรืออย่างรายการตี 10 นำผู้หญิงที่โดนกดดันแล้วเก็บเงินศึกษาเพื่อไปทำศัลยกรรมแก้ปมด้อยของตัวเอง แต่คนก็ไม่สนใจเรื่องราวรับฟังแต่ผลลัพธ์และแห่ไปทำศัลยกรรมตามเทรนด์แบบนี้น่าเป็นห่วงมาก”
สุดท้าย นักจิตวิทยาแนะนำการแก้ไขว่า โรงเรียนควรจะปลูกฝังและเน้นหนักและเปิดพื้นที่ให้กับเด็กและเปลี่ยนกันตั้งแต่เด็กๆ
“สมัยก่อนมีห้องแนะแนวที่แนะแนวจริงๆ ไม่ใช่แค่ชื่อ นอกจากจะต้องปลูกฝังให้เขารู้ปัจจุบันว่าเขาเป็นใครแล้วควรจะหันหลังย้อนไปดูอดีต พร้อมกับหันมองไปยังอนาคตว่าเมื่อทำไปแล้วมันมีความสำคัญกับชีวิตอย่างไรบ้างเพื่อแก้ไขปัญหานิสัยมักง่ายของคนไทยที่นับวันยิ่งจะสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ” นักวิเคราะห์สังคมกล่าวในที่สุด.
...
Twitter : Fern_Thairath
Twitter : raydo_thairath