ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

เทคนิคการเป็นพิธีกร


ในบทความนี้ กระผมขอเขียนเรื่อง “ เทคนิคการเป็นพิธีกร ” การเป็นพิธีกรไม่ใช่ใครที่ถือไมโครโฟน ใครที่พูดได้จะเป็นพิธีกรได้กันหมดทุกคน ดังนั้นการเป็นพิธีกรที่ดีต้องมีหลักการ มีความเข้าใจในหน้าที่ มีประสบการณ์ มีไหวพริบปฏิภาณหลายๆอย่างประกอบกัน

เทคนิคการเป็นพิธีกร

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

                การสื่อสารทางการพูดมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การโต้วาที การแซววาที การยอวาที การเป็นวิทยากร การพูดทางการเมือง การพูดแบบทอล์คโชว์  การเป็นพิธีกร ฯลฯ

                ในบทความนี้ กระผมขอเขียนเรื่อง “ เทคนิคการเป็นพิธีกร ” การเป็นพิธีกรไม่ใช่ใครที่ถือไมโครโฟน ใครที่พูดได้จะเป็นพิธีกรได้กันหมดทุกคน ดังนั้นการเป็นพิธีกรที่ดีต้องมีหลักการ มีความเข้าใจในหน้าที่ มีประสบการณ์ มีไหวพริบปฏิภาณหลายๆอย่างประกอบกัน

                ความจริงถ้าพูดถึงพิธีกร พวกเราส่วนใหญ่จะติดภาพของคนที่ดำเนินรายการบนเวที แต่ความจริงแล้ว ความหมายหน้าที่ โอกาสในการเป็นพิธีกรมีมากกว่านั้น เช่น การเป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการทางวิทยุ โทรทัศน์ การเป็นพิธีกรดำเนินรายการอภิปราย แซววาที โต้วาที ยอวาที การเป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการงานพระราชพิธี การเป็นพิธีกรโฆษกของพรรคการเมือง และการเป็นพิธีกรในการแสดงต่างๆ ฯลฯ

                สำหรับบทบาทของคนที่ต้องทำหน้าที่พิธีกร คือ เป็นเจ้าของเวที เป็นผู้ดำเนินรายการ เป็นผู้มีไหวพริบแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี

                เป็นเจ้าของเวที กล่าวคือ เป็นผู้รับผิดชอบงานทุกอย่างบนเวทีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

                เป็นผู้ดำเนินรายการ คือ เป็นผู้พูดเชื่อมโยงรายการต่างๆ บนเวที มีหน้าที่เชิญประธาน เชิญบุคคลต่างๆขึ้นมาพูดบนเวที  เป็นผู้ประสานงานต่างๆเช่น ประกาศข่าวสาร เชิญคนมาร้องเพลง เป็นผู้กำหนดว่าใครพูดก่อน ใครร้องเพลงก่อนใครร้องทีหลัง  เป็นต้น

                เป็นผู้มีไหวพริบแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คลาดฝัน กล่าวคือ ไฟดับ ไมโครโฟนไม่ดัง มีเรื่องทะเลาะกันข้างล่างเวที พิธีกรต้องสามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ เป็นอย่างดีเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

                ลักษณะของงานพิธีกร บางเวทีมีพิธีกรเดี่ยว บางเวทีมีพิธีกรคู่  การเป็นพิธีกรคู่ เราจำเป็นจะต้องแบ่งสัดส่วนการพูดกัน ไม่ใช่มีพิธีกรชายและมีพิธีกรหญิงในงาน แต่พิธีกรชายแย่งพูดหมด พูดตั้ง 90 % แต่ให้พิธีกรหญิงพูดแค่ 10 % อย่างนี้ก็ดูไม่เหมาะสม อีกทั้งต้องดำเนินรายการในลักษณะสนทนากัน ไม่แย่งกันพูดบนเวที

                ทักษะของพิธีกรที่ควรมีคือ ต้องมีทักษะการพูดต่อหน้าที่ชุมชน ต้องรู้ลำดับก่อนหลัง ต้องรู้กาละเทศะ ต้องรู้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องภายในงาน ซึ่งทักษะเหล่านี้จะต้องอาศัยประสบการณ์ในการเป็นพิธีกร เมื่อท่านทำหน้าที่พิธีกรบ่อยขึ้น ท่านก็จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น

                สำหรับเทคนิคบางอย่างที่พิธีกรสามารถนำไปใช้แล้วทำให้งานพิธีกรออกมาดี คือ ระหว่างเชิญประธานขึ้นบนเวที ถ้าอยากให้ประธานดูดีหรืองานออกมาดี พิธีกรควรจะให้ผู้อยู่ร่วมงาน ลุกขึ้นยืน ต้อนรับ  หรือ บางงานอาจจะมีเสียง

ปรบมือ หรือ บางงานอาจจะต้องใช้เสียงดนตรีหรือเสียงเพลง ทั้งนี้แล้วแต่สถานการณ์ พิธีกรต้องรู้จักปรับเปลี่ยน รู้จักกาละเทศะ ในการนำไปใช้เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์

                การแนะนำวิทยากร ก็ควรกล่าวประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน พร้อมแนะนำตำแหน่ง สถานที่ทำงานในปัจจุบัน สุดท้ายจึงแนะนำชื่อเป็นขั้นตอนสุดท้าย

                หน้าที่ของพิธีกร ควรเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ มาถึงงานก่อนเพื่อดูความพร้อมในงาน เตรียมข้อมูลในการพูดมาว่าจะพูดอะไรภายในงาน ตรวจดูเวที ไมโครโฟนดังไหม แสง สี เสียง บนเวทีพร้อมหรือไม่ เมื่อขึ้นเวทีควรกล่าวต้อนรับ แจ้งข้อมูล กำหนดการ ดำเนินรายการ บอกขั้นตอนต่างๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า กล่าวขอบคุณและกล่าวปิดงาน ซึ่งควรทำไปด้วยความกระตือรือร้น

                 ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นเทคนิคของผู้ที่ต้องการเป็นพิธีกร ซึ่งท่านที่มีความปรารถนาจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ได้ดี จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติม อีกทั้งต้องพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ เช่น พัฒนาบุคลิกภาพ  พัฒนาการออกเสียงให้ชัดเจน พัฒนาการพูดของตนเองอยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุด ท่านจำเป็นจะต้องหาเวทีในการฝึกฝนในการทำหน้าที่พิธีกร กระผมเองก็เคยผ่านเวทีพิธีกรมาอย่างมากมาย บางเวทีก็ราบรื่น บางเวทีก็มีปัญหาบางอย่างแต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้ดี เช่น พิธีกรงานแต่งงาน พิธีกรงานลอยกระทง พิธีกรในงานอภิปราย พิธีกรในงานพิธีต่างๆระดับจังหวัด พิธีกรในงานประชุม พิธีกรในงานสัมมนา ฯลฯ  

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พิธีกร
หมายเลขบันทึก: 437824เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2011 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ด.ช.ภคว้ฒน์ แสนร้กษ์

การเป็นดอกเตอร์ง่ายไหม

ไม่ง่ายครับ และ ก็ไม่ยากครับ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา หากเรามีความตั้งใจจริง ไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้ครับ

อยากเรียนจบ ดร.ทำไงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท