สนธิแบบสันสกฤต


สนธิแบบสันสกฤต นั้นไม่เหมือนกับในภาษาสันสกฤต (และภาษาบาลี) เสียทีเดียว จะว่าเหมือนก็เหมือนบางส่วนไม่ทั้งหมด  และสนธิในภาษาสันสกฤตเองก็ค่อนข้างจะหลากหลาย ซึ่งแตกต่างจากสนธิในภาษาบาลีพอสมควร

เข้าเรื่องกันเลยนะครับ

 

"สนธิ" เป็นวิธีการอย่างหนึ่งทาง"ภาษาศาสตร์" คือ การเปลี่ยนเสียงจากเสียงเดิม เมื่ออยู่ใกล้กับเสียงอื่น คำว่า สนธิ นั้นเป็นภาษาแขก เราอาจเรียกว่าอย่างไรก็ได้ ให้ได้ความหมายอย่างนี้ก็แล้วกัน

จะว่าไปแล้ว สนธิเป็นเรื่องธรรมชาติของเสียง เมื่อออกเสียงเสียงหนึ่ง ใกล้กับเสียงหนึ่ง ก็อาจมีผลให้เกิดการเปลี่ยนเสียง แต่มีหลักที่ตายตัว เช่น เมื่อ สระอะ ตามด้วยสระอิ ก็จะเปลี่ยน(สระทั้งสอง) เป็นสระ "เอ" เช่น นร  อิศฺวร = นเรศฺวร   พิจารณาจากตัวอย่างนี้ ก็จะเห็นว่าเป็นการเลื่อนของเสียงสระนั่นเอง ตัวหน้า (นะระ) มีเสียงอะทิ้งท้าย ตัวหลัง (อิศฺ-วะระ) ขึ้นต้นด้วย อิ จึงกลายเป็น "เอ"  เป็นอย่างนี้ทุกกรณีไป จะยกเว้นก็มีกฎที่ชัดเจนแน่นอน

ตำรามักจะยกเรื่องการสนธิไว้ในส่วนต้นๆ อย่างไวยากรณ์ของปาณินิ ก็เริ่มต้นด้วยสนธิก่อน ตำราไวยากรณ์โดยทั่วไปหลังจากรู้จักสระ พยัญชนะ ประสมสระอะไรกันแล้ว ก็มาที่การสนธิกันเลย  บางเล่มก็ค่อยๆ แทรกไปทีละินิด บางเล่มก็ว่าีรวมเสียเลยทีเดียวในบทแรกๆ

มาดูสนธิให้เป็นเรื่องง่าย จึงขอแบ่งเป็นสองแบบ คือ สนธิสระ กับ สนธิพยัญชนะ

1) สนธิสระ

ข้อนี้ง่ายครับ เมื่อสระสองตัวเจอกัน ก็เปลี่ยนเสียง เช่น วน + อาราม = วนาราม ง่ายมากเลยใช่ไหมครับ กรณีนี้ สระ อะ รวมเข้ากับสระ อา ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า สระ อา

อคฺนิ  อิติ = อคฺนีติ นี่ก็เหมือนกัน สระ อิ + สระ อิ = สระอี  (สระอิของคำว่า นิ รวมกับ สระอิ ของคำว่า อิ) ยกอีกหนึ่งตัวอย่าง มธุ  อุปโภค = มธูปโภค

เห็นไหมครับ ไม่ยากเลย สรุปง่ายๆ ว่า สระอะไรที่คล้ายกัน รวมกันก็ได้เสียงยาว

แต่ถ้า สระที่ไม่คล้่ายกัน มารวมกัน จะได้สระอื่น อย่าง นร  อิศฺวร ที่ยกมาข้างต้น (อาจเขียนเป็นสูตรว่า อะ/อา + อิ/อี = เอ เป็นต้น ยังมีอีกหลายรายการ ยกยอดไว้ก่อนก็แล้วกัน มิฉะนั้นจะกลายเป็นสันสกฤตเรียนยากไป

2) สนธิพยัญชนะ

ข้อนี้ยากหน่อย เพราะต้องใช้สมาธิ และการใคร่ครวญเล็กน้อย จำสูตรอย่างเดียวอาจไม่พอ หลักง่ายๆ ของสนธิพยัญชนะก็คือ พยัญชนะเมื่ออยู่ใกล้กัน จะผลักให้เสียงไปทางเดียวกัน โดยมักจะมีผลให้ตัวหน้าถูกเปลี่ยน

 

เช่น เมื่อ "สฺ" (มีจุดข้างใต้ด้วย คือ เมื่อเป็นตัวสะกด) เมื่ออยู่หน้า "จ"  จะเปลี่ยน สฺ เป็น ศฺ  ดังเช่น มนสฺ  จ = มนศฺจ  

งง  ไหมครับ

อย่างนี้แหละ เรียกว่า สนธิในภาษาสันสกฤต  ท่านที่อ่านมาตั้งแต่ต้น ก็คงนึกได้ว่า การอ่านภาษาสันสกฤตจะมีปัญหา ถ้าท่านแยกสนธิไม่ออก เพราะคำแต่ละคำไม่ได้แยกจากกันอย่างภาษาอังกฤษ หรือ ติดกันแบบภาษาไทย ทว่า "ติดกันแล้วมีการเปลี่ยนเสียงด้วย ที่สำคัญ เปลี่ยนเสียงแล้ว เปลี่ยนตัวด้วย"

ตัวอย่างแบบนี้ในภาษาอังกฤษก็มีครับ อย่าง อุปสรรค (prefix) in- เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะ p ก็จะกลายเป็น im-  เ้ช่น impossible แต่เมื่ออยู่หน้า l ก็จะกลายเป็น il-  เมื่ออยู่หน้า r ก็จะเป็น ir- แต่ในกรณีอื่นๆ in- ก็จะคงรูปเดิม  นี่คือสนธิแบบอังกฤษ

อีกสักตัวอย่าง commit + tion = commission, admit + tion = admission นี่ก็สนธิแบบอังกฤษ เปลี่ยนทั้งเสียง เปลี่ยนทั้งตัว และเปลี่ยนเสียงอีกที (คือ t เปลี่ยนรูปเป็น s และออกเสียง ช, บังคับ t ตัวหน้าให้ออกเสียงตามกัน)

แต่ถ้าเปลี่ยนเสียงไม่เปลี่ยนตัวก็มี อย่าง uncle ตัว n ออกเสียงเป็น "ง" เมื่ออยู่หน้าเสียง 'k' (ในที่นี่้คือ c) แต่ไม่ได้เปลี่ยนรูป

แหะๆ ว่ามาเรื่อย

สนธิพยัญชนะนั้น มีอยู่ทั่วไปในภาษาสันสกฤต เช่น จิตฺ  ธีระ = จิทฺธีระ  อักษร ตฺ กลายเป็น ทฺ อย่างนี้เป็นต้น

 

ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า สนธิในภาษาสันสกฤตนั้น

1) คือการเปลี่ยนเสียง คือ คำสองคำมาอยู่ชิดกัน ไม่เกี่ยวกับความหมาย

2) มีทั้งสนธิสระ และสนธิพยัญชนะ

 

มีข้อสังเกตว่า สนธิเกิดขึ้นได้

1) ในระดับประโยค นั่นคือ มีคำมาเรียงๆ กัน คำที่อยู่ใกล้กันจะเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดูดเข้าหากัน คือ จะสนธิเชื่อมต่อกันไป แต่ท่านว่าไม่ทำสนธิก็ได้ครับ ไม่ถือว่าผิด ที่ไม่ทำสนธิมักจะเป็นเรื่องของบังคับในร้อยกรอง หรือตำราแบบเรียนที่เขียนไว้ให้อ่านง่าย  โดยทั่วไป เมื่อไหร่สนธิได้ ก็จะสนธิครับ

2) ในระดับคำ นั่นคือ การนำคำมาประสมกัน อย่างเช่น นเรศฺวร ที่ยกมาข้างต้น แต่การประสมคำ อาจไม่มีการเชื่อมเสียง คือ ไม่สนธิก็ได้ เช่น อุป + วน = อุปวน ไม่มีการเปลี่ยนเสียงใดๆ ยกตัวอย่างอีกคำ พิษณุ + โลก = พิษณุโลก นี่ก็ไม่ได้สนธิเหมือนกัน

เล่าย่อๆ คงพอเข้าใจการสนธิแบบสันสกฤตแล้วนะครับ

หมายเลขบันทึก: 434542เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2011 01:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท