อักษรสันสกฤตออกเสียงอย่างไร


คนไทยคุ้นเคยกับคำศัพท์ภาษาสันสกฤตที่เราหยิบยืมมาแต่โบร่ำโบราณ การออกเ้สียงคำสันสกฤตจึงเป็นการออกเสียงแบบไทย อันที่จริงก็คงคล้ายกับภาษาอื่นๆ ที่เมื่อยืมมาแล้ว ก็ออกเสียงด้วยลักษณะเสียงแบบไทยเรา

บางคนอาจถามว่า แล้วภาษาสันสกฤตดั้งเดิมเขาออกเสียงอย่างไร...

คำถามนี้ตอบไม่ยาก เพราะระบบเสียงภาษาสันสกฤตมีกล่าวไว้ค่อนข้างชัดเจนในตำราไวยากรณ์แต่สมัยโบราณ และอาจเทียบเคียงได้จากกฎเกณฑ์ต่างๆ ทางภาษาศาสตร์

แต่ถ้าจะให้ง่ายกว่านี้ ก็ให้คนแขกที่รู้ภาษาสันสกฤตออกเสียงให้ฟัง อย่างนี้ชัดเปรี๊ยะ แต่ถ้าคนแขกไม่รู้สันสกฤต (อาจจะรู้ภาษาฮินดี หรือภาษาอื่น) เขาอาจออกเสียงเพี้ยนไปก็ได้

 

ก่อนจะไปถึงเสียง ขอเล่าเรื่องตัวอักษรเล็กน้อยนะครับ

อักษร สำหรับเขียนภาษาสันสกฤตมีด้วยกันหลายแบบ ที่นิยมกันในปัจจุบันก็คือ อักษรเทวนาครี และอักษรโรมัน ส่วนอักษรไทยนั้น ใช้เขียนภาษาสันสกฤตได้เกือบ 100% ยกเว้นเครื่องหมายสามสี่ตัวเท่านั้นเอง

 

เอาล่ะ มาดูกันว่า ภาษาสันสกฤตออกเสียงอย่างไร

ในที่นี้ พึงระลึกว่า อักษรที่ใช้เป็นเพียงตุ๊กตาแทนเสียงเดิมในภาษาสันสกฤต มิใช่เสียงที่เราคุ้นในภาษาไทยนะครับ!  ตั้งสติก่อนสตาร์ตนะครับ มิฉะนั้น จะมึน งง และสับสนมิใช่น้อย

 

ก ข ค ฆ ง - ชุดนี้เรียกว่า วรรค กะ  

ก ตัวนี้ออกเสียงเหมือน ก ไก่ ของเราครับ (อักษรโรมันใช้ k)

ข ออกเสียงเหมือน ข หรือ ค ก็ได้ เสียงเดียวกัน (อักษรโรมันใช้ kh) เสียง ข นี้อธิบายได้ว่า ออกเสียงคล้าย ก แต่เพิ่มลมเล็กน้อย

ค ออกเสียงเหมือน g ในคำว่า go, gate ในภาษาอังกฤษ (อักษรโรมันใช้ g)

ฆ ออกเสียงคล้าย g ข้างบนแล้วเพิ่มเสียงลมอีกเล็กน้อย (อักษรโรมันใช้ gh) ตัวนี้ออกเสียงยากหน่อย เพราะต้องเกร็งลิ้นเล็กน้อย ถ้าไม่เคยได้ยิน อาจฝึกยากครับ จำได้ว่ามีบางคนแนะนำว่าระหว่างออกเสียง g แล้วให้ใครสักคนทุบหลังเบาๆ จะได้เสียง ฆ แบบสันสกฤตครับ

ง ตัวนี้ตรงกับ ง ของไทยนั่นเอง แต่อักษร ง ใช้เป็นตัวสะกด (อักษรโรมันใช้ ṅ)

 

จ ฉ ช ฌ ญ - ชุดนี้เรียกว่า วรรค จะ  

จ ออกเสียงเหมือน จ ของเรา (อักษรโรมันใช้ c บางทีใช้ ch)

ฉ ออกเสียงเหมือน ฉ หรือ ช ก็ได้ เสียงเดียวกัน (อักษรโรมันใช้ ch บางทีใช้ cch)

ช ออกเสียงคล้าย j ใน just, jack ในภาษาอังกฤษ (อักษรโรมัน ใช้ j)

ฌ ออกเสียงคล้าย j แล้วเพิ่มเสียงลมอีก (อักษรโรมันใช้ jh)

ญ ออกเสียงคล้าย ย ในภาษาอีสาน คือ เสียงขึ้นจมูก (อักษรโรมันใช้ ñ)

 

ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ชุดนี้เรียกว่าวรรค ฏะ (ฏะ ใหญ่) อักษรชุดนี้ออกเสียงโดยงอปลายลิ้นขึ้นเพดานเล็กน้อย และอักษรโรมันจะเขียนจุดข้างใต้ทุกตัว

ฏ คล้ายเสียง ต แต่ งอปลายลิ้นขึ้นเพดานเล็กน้อย (อักษรโรมันใช้ ṭ)

ฐ คล้ายเสียง ถ แต่ งอปลายลิ้นขึ้นเพดานเล็กน้อย (อักษรโรมันใช้ ṭh)

ฑ คล้ายเสียง ด เด็ก แต่ งอปลายลิ้นขึ้นเพดานเล็กน้อย (อักษรโรมันใช้ ḍ) เราจึงออกเสียงบางคำที่ใช้ ฑ เป็นเสียงคล้าย ด เช่น บัณฑิต มณฑป บุณฑริก

ฒ คล้ายเสียง ด เด็ก แต่ งอปลายลิ้นขึ้นเพดานเล็กน้อย และเพิ่มลมเข้าไปอีก อักษรนี้ออกเสียงยากมาก (อักษรโรมันใช้ ḍh)

ณ คล้ายเสียง น แต่ งอปลายลิ้นขึ้นเพดานเล็กน้อย (อักษรโรมันใช้ ṇ)

 

ทีนี้มาถึงวรรค ตะ (ตะ เล็ก)

ต ออกเสียงเหมือน ต ของเรานี่แหละครับ ง่ายๆ (อักษรโรมันใช้ t)

ถ ออกเสียงเหมือน ถ หรือ ท ของเรานี่แหละครับ (อักษรโรมันใช้ th)

ท ออกเสียงเหมือน ด เด็ก (อักษรโรมันใช้ d)

ธ ออกเสียงเหมือน ด และเพิ่มเสียงลมเล็กน้อย (อักษรโรมันใช้ dh)

น ออกเสียงเหมือน น ของเรา (อักษรโรมันใช้ n)

 

วรรคสุดท้าย คือ วรรคะ ปะ

ป ออกเสียงเหมือน ป ของเรา (อักษรโรมันใช้ p)

ผ ออกเสียงเหมือน ผ หรือ พ ของเรา (อักษรโรมันใช้ ph)

พ ออกเสียงเหมือน บ ใบไม้ ของเรา (อักษรโรมันใช้ b)  ฝรั่งจึงเขียนพุทธ เป็น Buddha (ตามกติกาเป๊ะ)

ภ ออกเสียงคล้าย บ ใบไม้แล้วเพิ่มลมอีกเล็กน้อย (อักษรโรมันใช้ bh) คำว่า ภูมิ จึงเขียนด้วยโรมันเป็น bhumi ออกเสียงคล้ายๆ กับ บูมิ

ม ออกเสียงเหมือน ม ของเรา (อักษรโรมันใช้ m)

 

ที่เหลือไม่จัดเข้าวรรค เรียกว่าเศษวรรค

ย เหมือน ย ของเรา (อักษรโรมันใช้ y)

ร เหมือน ร ของเรา (อักษรโรมันใช้ r)

ล เหมือน ล ของเรา (อักษรโรมันใช้ l)

ว เหมือน ว ของไทย (อักษรโรมันใช้ v)

ศ ออกเสียงคล้าย sh ในคำว่า shoe ของภาษาอังกฤษ (อักษรโรมันใช้ ś บางแบบใช้ sh หรือ ç)

ษ ออกเสียงคล้าย ส แต่งอลิ้นขึ้นเพดานเล็กน้อย (คล้ายอักษรวรรค ฏะ) (อักษรโรมันใช้ ṣ บางแบบใช้ sh)

ส ออกเสียงเหมือน ส เสือของเรา (อักษรโรมันใช้ s)

ห ออกเสียงเหมือน ห ของเรา (อักษรโรมันใช้ h)

ฬ ออกเสียงคล้าย ล แต่งอลิ้นขึ้นเพดาน (คล้ายอักษรวรรค ฏะ) (อักษรโรมันใช้ ḷ)

 

มีอักษรหลายตัวที่ออกเสียงไม่ตรงกับภาษาไทย

มาดูตัวอย่างกันสักหน่อยนะครับ

อักษร ค ออกเสียงคล้าย ก หรือ g เช่น สุคต ออกเสียงว่า /สุกะตะ/ (sugata)

อักษร ท ออกเสียงคล้าย ท เช่น ทาริกา ออกเสียงว่า /ดาริกา/ (dārikā)

อักษร พ ออกเสียงคล้าย บ เช่น พาลา ออกเสียงว่า /บาลา/ (bālā)

อักษร ศ ออกเสียงคล้าย sh (คล้าย ฉ แต่ไม่เหมือน) เช่น ศกุนฺตลา ออกเสียงคล้ายกับ /ฉะกุนตะลา/ (shakuntalā)

อักษรอื่นก็ลองเทียบดูนะครับ

 

ผมจะสรุปเป็นตารางไว้ให้ดังนี้

การออกเสียงให้สังเกตอักษรโรมัน (อักษรโรมันใช้พิมพ์เล็กหมด) เพราะเสียงจะคล้ายอักษรโรมันมากกว่า

1 2 3 4 5   1 2 3 4 5
  k kh g gh
  c ch j jh ñ
  ṭh ḍh
  t th d dh n
  p ph b bh m
                     
   
y r l v ś s h    

โปรดสังเกตว่า

1.อักษรแต่ละตัวออกเสียงไม่เหมือนกันเลย (ถ้าเหมือนกัน แปลว่าผมเขียนผิด)

2.อักษรแต่ละหลัก (1 ถึง 5) มีลักษณะเดียวกัน คือ หลักที่ 1 เสียงไม่ก้อง ไม่มีลมมาก หลักที่ 2 ไม่ก้อง แต่มีลมมาก หลักที่ 3 เสียงก้อง แต่ลมไม่มาก หลักที่ 4 เสียงก้องด้วย ลมมากด้วย ส่วนหลักที่ 5 นั้นเป็นเสียงขึ้นจมูก ถือว่าเป็นเสียงก้อง

 

คราวหน้ามาเรียนเรื่องสระ (สะ-หระ) กันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 438178เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2011 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ขอบคุณสาระดี ๆ จะนำไปลิงก์ไว้ที่ห้องเรียนสีชมพู http://www.st.ac.th/bhatips/

                              ภาษาไทยวิทยาทาน

 

สวัสดีครับ อ.ภาทิพ

ด้วยความยินดีครับ

 

และขอบขอบคุณ ดร.ธวัชชัย อาจารย์ภาทิพ อ.นุ และน้องมะปรางนะครับ

ที่ให้ดอกไม้ วันนี้ได้ตั้งหลายดอกแน่ะ ;)

 

 

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณนะคะที่ไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจกัน

เรียนบาลีสนุกจริงๆค่ะ

แล้วทำให้ประหลาดใจ คนไทยใช้ภาษาบาลีจนเป็นวิถีชีวิต เชื่อว่าในวันหนึ่งๆ เราใช้ภาษาบาลี มากกว่าคำไทยแท้ๆอีกนะคะ

สวัสดีค่ะท่านบ.ก.

วันนี้น้องฟ้ากะนายเมฆครึ้มๆ ทั้งวันเลยค่ะ มาขอบคุณที่ส่งกำลังใจในบันทึก

มาเรียนภาษาสันสกฤต ได้แค่วรรค จะ ฝึกออกเสียง ฌ ขึ้นจมูก ก็สนุกดีนะคะ

มีแค่ ๕ วรรค ดูเหมือนจะง่าย แต่ท้าทาย ตรงเสียงแตกต่างกันนิด ก็เพี้ยนไปเลยนะคะ

สวัสดีครับ คุณพี่Ico48 ณัฐรดา

ภาษาไทยมีบาลีสันสกฤตเยอะมากครับ

โดยเฉพาะชื่อตัว ชื่อสกุลนี่ น้อยเหลือเกินที่จะไม่มีบาลีสันสกฤตแทรกครับ

 

สวัสดีครับ คุณน้อง Ico48 Poo

ถ้าเรียนฮินดีมาแล้ว คงง่ายขึ้นเยอะนะครับ

เราเรียนภาษาแบบอ่านด้วยตามามาก ต้องพูดด้วยปาก ฟังด้วยหูมากขึ้น

จะได้คุ้นเคย เรียนง่ายขึ้นครับ ;)

 

สวัสดีค่ะ

แวะมาส่งดอกไม้...หลายดอกเลยค่ะ

ภาพสวย ๆ ของพี่คนบ้านไกลค่ะ ;)

ขอโทษค่ะ ไม่ยอมมา...

เอาใหม่ ๆ  ^_^

สวัสดีค่ะอาจารย์+ทุกๆ คน

แค่อ่านหัวเรื่องก็อยากจะร้องเพลงเพลงนี้ค่ะ "อยากจะร้องดางๆ เพื่อให้ศิษย์ทุกคนได้รู้ทั่วกาน..." ขอบพระคุณค่า (เปิดชุมนุม สันสกฤตฮาเฮ ดีกว่า อิอิ)

ป.ล. หนังสือของ ศ.วิสุทธิ์ บุษยกุล ซื้อมาแล้วนะคะ พอเปิดอ่านคำนำปุ๊บก็ปิดปั๊บเลย T^T แต่จะพยายามอ่านให้จบเล่มค่ะ ส่วนหนังสือของอาจารย์จำลอง ยังไม่สะดวกไปหาซื้อเลยค่า ^o^

สวัสดีครับ คุณIco48 คนไม่มีราก

ขอบคุณที่มีดอกไม้มาฝากนะครับ

หลายดอกด้วย ;)

ภาษาสันสกฤตเรียกดอกไม้ว่า ปุษฺป หรือ กุสุม (ไม่มีเพศ)

 

สวัสดีครับ คุณครูภาษาไทย

สันสกฤตเฮฮา ก็ดีเหมือนกันครับ ต้องหามุขกันก่อน ;)

หนังสืออาจารย์วิสุทธิ์ ผ่านไปบทที่ 1 เลยก็ได้ครับ ค่อยย้อนมาอ่านคำนำ

หรือไม่ก็ เดี๋ยวผมเปิดบทเรียนง่ายๆๆๆๆๆๆๆๆ

ป.ล. หนังสือเรียน อย่าอ่านอย่างเดียวนะครับ ต้องอ่านด้วย เขียนด้วย จดไปด้วย ไม่งั้นไม่ได้ผลครับ ;)

สวัสดีค่ะอาจารย์+ทุกๆ คน

ขอบพระคุณมากค่ะที่กรุณาแนะนำ จะพยายามทำตามคำแนะนำอย่างเค่งคัด เอ้ย! เคร่งครัดนะคะ ^.^

ป.ล. รออาจารย์เปิดบทเรียนแสนง่ายอย่างใจจดใจจ่ออยู่นะคะ

หลักการข้างต้น จะหาอ้างอิงตัวเล่มจากไหนได้ไหมคับ อย่างได้ตัวอย่างของคำเพิ่มเติมคับ ที่ผมสงสัยนะคับ อย่างเช่นตัว พ บางคนก็บอกให้ใช้ bh ผมลองศึกษาดูไม่รู้จะใช้อักษรใดแน่คับ อาจารย์กรุณาช่วยแนะนำหน่อยนะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท