English & Thinglish 8: เอวัง


ภาษาไทยจะเป็นตัวตั้งสำหรับแปลกลับเป็นคำๆ เรียงๆ กันไปโดยไม่มีการบวชกลับเป็นภาษาอังกฤษ

          การใช้ภาษาอังกฤษในบริบทไทยที่เอ่ยถึงบ่อยๆนั้น คือ การเอาภาษาไทยเป็นทั้งเป้าหมายและตัวตั้ง  การใช้ภาษาไทยเป็นเป้าหมาย คือ จับภาษาอังกฤษมาแปลแล้วบวชเป็นไทยหมดทุกกรณี  กฎกติกาต่างๆ ถ้าเปรียบเป็นเสื้อผ้าจะถูกถอดทิ้งหมดเหลือแต่ตัวล่อนจ้อน  ไม่มีเอกพจน์ พหูพจน์ ไม่มีการเปลี่ยนรูปคำ และเรียงคำ  แทบทุกอย่างจะถูกใช้ตามอัธยาศัยไทยๆ เหมือนกับที่เราใช้คำไทยในชีวิตประจำวันแบบไทยๆ  เช่น ไม่ว่าเราจะสั่ง ผัดไทยไข่ห่อ หรือ ผัดไทยห่อไข่ เราก็จะยังคงได้อาหารอย่างเดียวที่ตรงกับความต้องการ ไม่มีคนขายคนไหนย้อนถามหรอกว่า จะให้เอาอะไรห่ออะไรกันแน่

        พอถึงเวลาที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยจะเป็นตัวตั้งสำหรับแปลกลับเป็นคำๆ เรียงๆ กันไป โดยไม่มีการบวชกลับเป็นภาษาอังกฤษ  และนี่มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ Thinglish จำนวนไม่น้อย ใช้การไม่ได้

         ในภาษาพูด คนฟังอาจเข้าใจได้ แต่ในภาษาเขียน (ซึ่งไวยากรณ์จะเสนอหน้ามายุ่งด้วยทันที) หลักภาษาอังกฤษกลายเป็นเรื่องจำเป็น

         ตัวอย่างต่อไปนี้พบในระดับอุดมศึกษา ซึ่งแปลว่า ผู้เขียนได้(เข้าชั้น)เรียนภาษาอังกฤษมาแล้วอย่างน้อยหกปี

        Lord bathe with soldier number one break circle surround Myanmar out from city not defeat face go way east arrive town moon city.

         ผมเชื่อว่า คงมีคนไทยไม่น้อยทราบว่าเป็นเรื่องอะไร เพราะเราสามารถแปลเป็นไทยไปทีละคำแล้วพอรู้เรื่อง ซึ่งมีดังนี้ “พระยาตากพร้อมด้วยทหารจำนวนหนึ่ง ฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก จนถึงเมืองจันทบุรี”

         ผลงานนี้แปลได้ละเอียดลออมาก เพราะชื่อบุคคลและสถานที่ก็ถูกแปลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยุธยา ถูกแปลถึงสองทอดกว่าจะได้ not defeat

         ตัวอย่างต่อไปนี้แทรกอยู่ในบทความภาษาไทย ในวารสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งซึ่งปิดตัวไปแล้วเมื่อปลายปี ๒๕๕๑

         “House is make of brick, but home is make of love”

          ประโยคนี้มีใช้จริงในภาษาอังกฤษ  สิ่งที่ทำให้ผมนับว่าเป็น Thinglish คือการสร้างบ้านด้วยอิฐก้อนเดียว อันเป็นเรื่องธรรมดามากที่พบได้ทั่วประเทศไทยทั้งในจอโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา กระจกหลังรถยนต์ ฯลฯ  ส่วน กริยา“make of” นั้นไม่น่าจะเป็นข้อผิดพลาดเฉพาะคนไทยชาติเดียว  โดยรวมๆ ประโยคนี้อ่านแล้วรู้เรื่องได้โดยไม่ยาก เป็น Thinglish ที่ใช้งานได้  แต่เมื่ออยู่ในสื่อมวลชน  อยู่ในฐานะข้อความที่ใช้อ้างอิง  ใช้สร้างความน่าเชื่อถือแก่บทความ  ประโยคที่ยกมาสมควรถูกต้องตามหลักภาษา  อนึ่ง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับมีกองบรรณาธิการสำหรับตรวจตราแก้ไขต้นฉบับ  ดังนั้น กองบรรณาธิการจึงควรแก้ไขประโยคนี้ เพื่อกู้หน้าทั้งผู้เขียนและวารสารไปพร้อมๆ กัน

          เท่าที่เสนอมา พอจับเค้าได้ว่า กฎกติกามีไว้ใช้ตามเงื่อนไขและสถานการณ์  ส่วนการใช้งานทั่วๆไปนั้น ยืดหยุ่นได้ไม่ว่าหลักภาษา หรือ สำเนียง ซึ่งเป็นไปตามกาละ เทศะ และลักษณะเฉพาะของแต่ละชาติพันธุ์  ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปอย่างสะเปะสะปะจนหาอะไรเกาะกำไม่ได้

         การทำให้ผู้คนใช้ภาษาได้ดี อย่าว่าแต่ภาษาต่างประเทศเลย  แม้แต่ภาษาของตัวเองก็ตาม เป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันเสร็จ  เมื่อรู้อย่างนี้ก็จึงมีทางเลือกสองทาง คือ ทำไม่รู้จักเสร็จก็เลิกทำดีกว่า กับ ไม่เสร็จไม่เป็นไร แค่ทำแล้วเห็นว่าดีกว่าเดิม(มากน้อยไม่ว่า)ก็ดีถมไปแล้ว

         ผมเชื่อว่ามีผู้เลือกทั้งสองทาง  ดังนั้น เราคงจะเห็น Thinglish ทั้งแบบใช้งานได้ และแบบที่ใช้ไม่ได้ ไปเรื่อยๆ  ส่วนคะแนนจะอยู่ที่รองบ๊วย(ดีกว่าคณิตศาสตร์นิดหน่อย) อย่างผลสอบ โอเน็ต ที่เพิ่งผ่านมานี้ไปอีกชั่วกาลนานหรือไม่  คงจะเป็นโจทย์สำหรับครูอาจารย์และสถานศึกษาต่อไปเช่นเคย เพราะอย่างน้อย คะแนนก็ฟ้องผลงานได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว

        เรื่อง English & Thinglish ขอจบลงง่ายๆ ว่าเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

หมายเลขบันทึก: 437728เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท