พิธีแต่งงานเจ้าชายวิลเลี่ยม-เคท กับบทบาทผู้นำทางศาสนาที่แตกต่าง


บทบาทพระสงฆ์ไทยในพิธีกรรมต่าง ๆ ควรปรับวิธีการนำเสนอ

            เมื่อวานได้มีโอกาสชมการถ่ายทอดสดทางบีบีซี งานราชพิธีมงคลอภิเษกสมรส ระหว่างเจ้าชายวิลเลี่ยม-เคท แห่งสหราชอาณาจักร เบื้่องต้นจริง ก็ไม่ได้สนใจและตื่นเต้นกับพิธีนี้แต่อย่างไรเพราะถือว่าเรื่องของโลกิยวิสัย พระสงฆ์คงไม่เกี่ยว แต่เมื่อได้เห็นบทบาท ลีลาของผู้นำทางศาสนาทำหน้าที่เป็นเจ้าพิธีในโบสถ์คริสต์แล้ว ต้องหาเก้าอี้มานั่งดูไปจนพิธีในโบสถ์จบ นับเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นพิธีในศาสนสถานคือโบสถ์ของศริสต์ในฐานะต่างศาสนา ในมุมมองและความเห็นด้านอื่น ๆ จะไม่ขอนำเสนอ ในฐานะมุมของนักการศาสนาแล้ว มีความแตกต่างระหว่างบทบาทของพระสงฆ์ไทย และสาธุคุณของคริสต์อย่างชัดเจนดังนี้

๑. ด้านศาสนสถาน คือโบสถ์คริสต์ ที่จัดสร้างอย่างอลังการ ใหญ่โต โออ่า เป็นสัปปายะแห่งการจัดงาน สมเกียรติศักดิ์ศรี อันเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์โดยแท้ ทำให้ผู้เข้าพิธี ผู้ร่วมพิธีรู้สึกได้ถึงความ..ไม่ธรรมดา

๒.ศาสนพิธี   นักบวช ผู้นำประกอบพิธี ได้อาศัยพิธีนี้ ลำดับ จัดขั้นตอนพิธีกรรม นำสู่พิธีการ สร้างบรรยายกาศอันศักดิ์สิทธิ์ เสมือนการสะกดจิตของผู้เข้าพิธี และผู้ที่มาร่วมพิธีให้เห็นความยิ่งใหญ่ สำคัญยิ่งในโอกาสที่ได้เข้ามาร่วมในวันมหามงคลเช่นนี้

๓. ศาสนธรรม  นักบวชผู้นำประกอบพิธี ของคริสตศาสนา ได้อาศัยช่วงเวลาห่วงนี้ ถ่ายทอดคำสอนโองการของพระผู้เป็นเจ้า แก่คู่บ่าว-สาว รวมทั้งผู้ที่ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์เป็นพยานในพิธีนี้ทั้งหมด ได้เข้าใจ ซาบซึ้ง ถึงพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า พระเมตตาที่ทรงประทานความรักให้แก่มนุษย์และคู่บ่าวสาว ที่จักยอมรับ นับถือกันเป็นคู่สามี -ภรรยา รักกัน ซื่อสัตย์ต่อกันและกันไปจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

๔. ศาสนบุคคล  บิชอบ นักบวช สาธุคุณ   รู้หน้าที่ แบ่งหน้าที่ ทำหน้าที่ได้อย่างงดงามและเลือกเฟ้นคัดสรรค์ระดับ ภาวะความเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ คุณภาพ บุคลิก การวางตัว ช่วงทำนอง จังหวะน้ำเสียงในการถ่ายทอดเทพโองการของพระผู้เป็นเจ้า ที่ตราตรึงจิตทำให้ผู้คนได้เข้าใจ เข้าถึงคำสอนทางศาสนาอย่างลึกซึ้งและเอิบอิ่มได้ ซึ่งก็สมแล้วกับการเป็นศาสนาที่มีศาสนิกชนคนนับถือมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

เปรียบเทียบที่แตกต่างจากพระสงฆ์ไทยดังนี้

๑. ด้านศาสนสถาน  : โบสถ์ คือศาสนถานที่จำกัดเฉพาะกิจของสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ประชาชน ชาวบ้านมีส่วนน้อยในการได้ใช้สอย แม้จะสร้างใหญ่โตแต่การใช้งาน บางแห่งไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคางบประมาณการก่อสร้าง

๒.ด้านศาสนพิธี : ชาวพุทธ จะมาถามฤกษ์วันแต่งงานกับพระ เมื่อถึงเวลาก็นิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ เลี้ยงพระ ในพิธีเฉพาะคู่บ่าวสาวและญาติ ๆ เท่านั้น พระผู้ไปร่วมพิธีไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก เมื่อถึงช่วงที่แขกหรื่อผู้คนมาเป็นจำนวนมากก็ไม่ใช่โอกาสของพระที่จะแสดงธรรม นำคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสั่งสอน   และจะมาหาพระอีกครั้งก็ถึงตอนหย่าร้างกันแล้ว และพระจะไปมีบทบาทอีกครั้งก็ต่อเมื่อเวลาตาย ซึ่งคนตาย ก็ตายไปแล้วไม่น่าเป็นห่วง แทนที่จะสอนให้คนเป็น ๆได้เข้าใจปฏิบัติธรรมในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ กลับไปเทศน์ในวันตายแถมเวลาพระสวดพระอภิธรรม คนก็นึกว่าสวดให้คนตายฟังซะอีก ซะงั้น !

๓.ด้านศาสนธรรม : ด้านคำสอน งานแต่งงาน พระสงฆ์แทบไม่มีบทบาท ในการแสดงธรรมนำคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสอนคู่บ่าวสาวให้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ ในฐานะสามี -ภรรยา การจะอยู่ด้วยกันจะยืดหรือไม่อยู่ที่การปฏิบัติตนไม่ใช่ อยู่ที่ฤกษ์วันแต่ง แต่ประการใด ซึ่งคำสอนทางพระพุทธศาสนาก็มีคำสอนว่าด้วยฆราวาสวิสัยการครองเรือนก็มีอยู่เป็นอันมากเช่น หน้าที่ของสามีที่มีต่อภรรยา หน้าที่ภรรยาที่มีต่อสามี คุณธรรม ๔ ข้อที่คู่สามี - ภรรยา พึงปฏิบัติต่อกันเพื่อชีวิตคู่จักอยู่กันได้จนถึงไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรเป็นต้น รับรองว่า แม้ชาวพุทธที่ผ่านพิธีมงคลสมรส งานแต่งมาแล้วก็ยังไม่ทราบ ถึงทราบก็ไม่เข้าใจ ถึงเข้าใจ ก็ไม่ใส่ใจที่จะนำไปปฏิบัติเพราะอะไร ? น่าสงสัยยิ่ง

๔. ด้านศาสนบุคคล : ข้อนี้เราต้องยอมรับว่า คุณภาพของพระสงฆ์ไทย มียังไม่พอต่อการสนองตอบศรัทธาของสาธุชน จำนวนพระสงฆ์ที่เทศน์แล้วประชาชนฟังเข้าใจรู้เรื่องนับจำนวนได้  เพราะพระสงฆ์ไม่มีสถาบันที่จัดฝึกหัดภาวะความเป็นผู้นำ ไม่ได้เตรียมการอบรมพระสงฆ์ให้มีความสามารถที่สามารถนำพุทธธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ่ายทอดให้เกิดความเข้าใจ เข้าถึง อย่างซาบซึ้งและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลจริงจากการปฏิบัติได้ อีกทั้งภาพลักษณ์อันเป็นภาพรวมของสถาบันสงฆ์ในแง่ลบที่ปรากฎทางสือต่าง ๆ เป็นเหตุให้ความศรัทธาที่มีต่อศาสนบุคคลเสื่อมลงไปมาก ทำให้ประชาชนหันเหศรัทธาไปยังที่อื่น ๆ เราจะเห็นว่า มีกลุ่มบุคคลที่ประกาศตนเป็นอาจารย์ เจ้าสำนัก ที่เป็นฆราวาส ยังเป็นที่แห่งศรัทธายอมรับนับถือของประชาชนบางท่านมากกว่าพระสงฆ์ด้วยซ้ำ

        บทความนี้ผู้เขียนได้เขียนเพื่ออยากจะให้เป็นอีกมุมมองในฐานะนักการศาสนา อยากเปรียบเทียบให้เห็นโอกาสและบทบาทอันสำคัญ ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ ที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ควรใช้โอกาสเช่นนี้ ชี้นำประชาชนเพื่อความเข้าใจพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศนาอธิบายให้พุทธบริษัทได้เข้าใจ เข้าถึง ด้วยการปฏิบัติเพื่อให้เกิดมรรค ผล ในฐานะที่เป็นชาวพุทธได้อย่างแท้จริง และไม่ได้มีเจตนาว่า วัดจะต้องเปิดโบสถ์เพื่อจัดพิธีวิวาห์ให้ชาวพุทธ แต่อย่างน้อยในฐานะพระสงฆ์ อันเป็นสถาบันที่ชาวพุทธให้ความเคารพสูงสุด อีกทั้งยังได้ชื่อว่า ศักยบุตร คือบุตรของผู้กล้า ผู้องอาจ และสง่างาม จะฝึกหัด ยกระดับตน ให้สมกับศรัทธาสาธุชนที่มีต่อสถาบันพระสงฆ์ได้อย่างไร  ถึงเวลาแล้วที่ ผู้บริหารการคณะสงฆ์ไทย จักอาศัยพิธีกรรมทางศาสนา เป็นพิธีสื่อนำสู่คำสอนขององค์พระสัมมาให้เข้าถึงประชาชน เพื่อความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพระสงฆ์ไทยเพื่อพุทธบริษัทไทย ที่จักสามารถก้าวไกลไปทั่วโลกได้ ให้สมพุทธประสงค์ขององค์พระสัมมา ที่ตรัสสั่งไว้ว่า จรถะ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ  โลกานุกมฺปายะ อตฺถายะ เทวมนุสฺสานํ..อย่างจริงจังกันต่อไป

 

ขอเจริญพร

ท่านคมสรณ์/เล่าเรื่องจากอินเดีย

๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ 

หมายเลขบันทึก: 437665เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2011 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

พิธีแต่งงานที่ท่านเห็นนั้นเป็นพิธีของ นิกายแองกลิกัน พิธีแต่ละนิกายก็อาจจะแตกต่างกันไปครับ

นมัสการเจ้าค่ะ

ชมไป นึกถึงธรรมไปเหมือนกันเจ้าค่ะ

ท่านปัญญานันทะเคยบรรยายว่าศาสนาพุทธนั้น "พลอยศาสนาพราหมณ์" คือขอฤกษ์ ก็เป็นเรื่องของพราหมณ์ พระเพียงไปสวดมนต์ในพิธีเท่านั้น สวดเสร็จก็กลับ

คงเพราะอย่างนี้มังเจ้าคะ เราจึงถูกพาห่างพุทธออกไป

นมัสการลา

เจริญพร คุณธีระชัย....ขออนุโมทนาที่แวะมาอ่าน อาตมาว่า พิธีกรรมทางศาสนาจะเป็นส่วนสำคัญย่ิงในการดึงศรัทธาของผู้คนให้เข้ามานับถือแม้จะเป็นเพียงเปลือกนอกของแก่นแท้ แต่ก็สำคัญ

โยมณัฐรดา...พุทธเรามีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ดีงามแต่ ความเข้าใจในพิธีและวัตถุประสงค์ของพิธีคืออะไร เรายังไม่เข้าใจ และโอกาสที่ประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมก็มากมายแต่การใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ในการเข้าถึงพุทธธรรมนีัยังน้อยมาก เราเสียโอกาสในการนำพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าถึงประชาชนชาวพุทธไปเป็นอันมากเรื่องนี้น่าเสียดาย เราจึงเข้าไม่ถึงแก่นแท้แห่งคำสอน แค่เปลือกเราก็ไม่ผ่านแล้ว...เจริญพร

นมัสการเจ้าค่ะ

นำลิ้งค์บทความของพระคุณเจ้าไปแบ่งปันที่ ruklukewomen ใน เฟสบุ๊คเจ้าค่ะ เพราะน่าสนใจมาก (พอดีในหน้านั้นมีการตั้งกระทู้ถึงเรื่องนี้พอดีเจ้าค่ะ)

เจริญพร โยมณัฐรดา..

ด้วยความยินดี และอนุโมทนาในธรรมทาน

ท่านคมสรณ์

อ่านแล้วซึ้งมากค่ะ ท่านวิเคราะห์ได้ดีมากค่ะ โดยเฉพาะด้านศาสนบุคคลของศาสนาพุทธ แล้วเราจะช่วยกันอย่างไรให้ศาสนบุคคลของศาสนาพุทธ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธามากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท